นายเจฟฟ์ เบซอส เจ้าของบริษัทแอมะซอน รวมถึง นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทสลา และนายเคน กริฟฟิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซิทาเดล แอลแอลซี ต่างออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในไม่ช้า เช่นเดียวกับบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นักลงทุน และสถาบันวิชาการต่าง ๆ ที่พร้อมใจกันคาดการณ์ถึงภาวะขาลงทางเศรษฐกิจที่ยาวนาน
นอกจากนี้ นายคาร์ล ไอคาห์น นักการเงินผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไอคาห์น เอนเตอร์ไพรเซส รวมถึง นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส และนายชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานบริษัทเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ อิงค์ก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวและอัตราว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น โดยถูกดดันจากปัจจัยลบหลายประการ รวมถึง การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อชะลอเงินเฟ้อ สงครามในยูเครน และการล็อกดาวน์ของจีนส่งผลกระทบต่อการค้าโลก
คำเตือนจากกลุ่มคนหัวกะทิทั้ง 12 คนมีดังนี้
1. นายเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทแอมะซอน:
"ขณะนี้เศรษฐกิจดูไม่ค่อยดีนัก สิ่งต่าง ๆ เริ่มชะลอตัวลง หลายภาคส่วนต้องปลดพนักงาน หากเศรษฐกิจยังไม่ถดถอยในตอนนี้ ก็น่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น คุณควรลดความเสี่ยงของคุณให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าทุกอย่างจะไปได้สวย แต่ก็ต้องเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุดไปด้วย"
"ความน่าจะเป็นในเศรษฐกิจนี้บอกให้คุณเตรียมการรับมือวิกฤต"
2. นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทสลา, สเปซเอ็กซ์ และทวิตเตอร์:
"สหรัฐมีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอยขั้นรุนแรงเป็นเวลานาน 1 หรือ 2 ปี"
"พูดตรง ๆ นะ ภาพเศรษฐกิจในอนาคตนั้นเลวร้ายมาก โดยเฉพาะสำหรับบริษัทอย่างเรา ซึ่งต้องพึ่งพาการโฆษณาอย่างสูง ภายใต้ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย"
3. นายเคน กริฟฟิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารซิทาเดล:
"การที่เฟดจะเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างแท้จริงนั้น เราจะต้องทำให้อัตราว่างงานเคลื่อนไหวที่กรอบกลางของ 4% ผมยากที่จะเชื่อว่าเราจะไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงนั้น ซึ่งจะตรงกับช่วงกลางไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2566"
4. นายชาร์ลี มังเกอร์ หุ้นส่วนธุรกิจของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์และรองประธานบริษัทเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ อิงค์:
"ผมคิดว่าเฟดเต็มใจที่จะปล่อยให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงจนหลุดการควบคุม นั่นคือสิ่งที่เฟดควรจะทำ ผมได้แต่หวังว่าพวกเขาควรจะไม่เป็นคนที่ดื่มจนเมามายเมื่ออยู่ในงานเลี้ยง"
5. นายคาร์ล ไอคาห์น ประธานไอคาห์น เอนเตอร์ไพรเซส:
"เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเผชิญอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คุณก็จะเผชิญกับเส้นอัตราผลตอบแทนแบบผกผัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ว่าคุณจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และผมคิดว่าเราตกอยู่ภายใต้ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยต้องจัดการหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อนำพาเราออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย"
6. นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน:
"มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะถดถอยเล็กน้อย โดยผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดีมาก บริษัทต่าง ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ๆ แต่ก็มีปัจจัยลบอื่น ส่วนใหญ่เป็นเพราะสงครามในยูเครนและราคาน้ำมัน"
7. นายเดวิด โซโลมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโกลด์แมน แซคส์
"โดยทั่วไปแล้ว เมื่อคุณตกอยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่เงินเฟ้อหยั่งรากลึกเช่นนี้ เป็นเรื่องยากมากที่จะหลุดพ้นจากภาวะการณ์ดังกล่าวได้โดยไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจที่แท้จริงชะลอตัว มีความเป็นไปได้สูงมากที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย"
8. นายเจฟฟ์ กันด์ลัค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทดับเบิลไลน์ แคปิตอล:
"มีโอกาส 60% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในช่วง 6 - 8 เดือนข้างหน้า และสำหรับปี 2566 ผมให้น้ำหนักมากขึ้นที่ 80%"
9. นายลีออน คูเปอร์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอเมก้า แอดไวเซอร์ส:
"การคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด การคุมเข้มเชิงปริมาณ การแข็งค่าของดอลลาร์ และราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เราคาดว่าอุปสงค์จะสูงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะนโยบายการคลังและการเงินที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ"
10. นายเกร็ก เจนเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศร่วมของบริษัทบริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอตส์:
"เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยรุนแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยปี 2566 มีแนวโน้มจะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างหนัก"
"คุณอาจจะมองไม่เห็นจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นจนกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย ซึ่งน่าจะเป็นช่วง 6 - 7 เดือนนับจากนี้ คุณน่าจะไม่เห็นการสิ้นสุดของจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจสหรัฐอีกประมาณ 9 เดือน หรือนานกว่านั้น"
11. นายนูเรล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์ของเอ็นวายยู สเทิร์น เจ้าของฉายา "ด็อกเตอร์ดูม" (Dr. Doom)
"ประวัติศาสตร์ชี้ว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงการทรุดตัวลงอย่างรุนแรง คุณจะไม่ได้เผชิญเพียงแค่เงินเฟ้อ ไม่ใช่เพียงแค่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็น 'วิกฤตการณ์หนี้จากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันท่ามกลางเงินเฟ้อสูงครั้งใหญ่ (Great Stagflationary Debt Crisis) ซึ่งเลวร้ายกว่าในยุค 70 อย่างมาก และน่าจะแย่กว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก (Global Financial Crisis)
12. นายเคน โรกอฟฟ์ นักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ด:
"คุณต้องพิจารณาโลกทั้งใบ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เลวร้ายจริง ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่สหรัฐจะต้านทานไหว ผมกังวลว่าเราจะไม่เผชิญเพียงแค่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย ผมคิดว่าโอกาสที่เราจะเผชิญภาวะถดถอยอย่างรุนแรงนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว"