องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกในปี 2566 จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.2% จากระดับ 3.1% ในปี 2565 เนื่องจากผลกระทบของการที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยระบุว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น มาจากผลกระทบของการที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครน
OECD ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 38 ประเทศ ซึ่งได้แก่ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐ
ทั้งนี้ OECD ได้เผยแพร่ตัวเลขคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ (Economic Outlook) ในวันอังคาร (22 พ.ย.) ดังนี้:-
ประเทศ 2565 2566 2567 โลก 3.1% 2.2% 2.7% สหรัฐ 1.8% 0.5% 1.0% จีน 3.3% 4.6% 4.1% ยูโรโซน 3.3% 0.5% 1.4% สหราชอาณาจักร 4.4% -0.4% 0.2% ญี่ปุ่น 1.6% 1.8% 0.9% บราซิล 2.8% 1.2% 1.4%
OECD ระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปี 2565 นั้น ต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 ถึงครึ่งหนึ่ง โดยในปี 2564 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนการคาดการณ์ GDP ในปี 2566 นั้น ก็ยังต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีสาเหตุมาจากผลกระทบของสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน
อย่างไรก็ดี OECD มองว่า ภูมิภาคเอเชียจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 และ 2567 โดยคาดว่าการขยายตัวของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียนั้น จะคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 0.75% ของการขยายตัวของ GDP ทั่วโลกในปี 2566 ขณะที่สหรัฐ ยุโรป ภูมิภาคอเมริกากลาง และอเมริกาใต้จะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำมาก
"เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 0.5% ในปี 2566 เนื่องจากผลกระทบของราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลง ภาวะคอขวดด้านอุปทาน และผลกระทบจากการคุมเข้มนโยบายการเงิน" OECD ระบุ
ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐนั้น คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.5% ในปี 2566 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8%
นอกจากนี้ OECD คาดว่า ตลาดพลังงานโลกยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลงอย่างมีนัยสำคัญ
"ที่ผ่านมานั้น ยุโรปได้กักตุนก๊าซธรรมชาติในคลังสำรองไว้เป็นจำนวนมากและพยายามควบคุมอุปสงค์ แต่ฤดูหนาวในประเทศกลุ่มซีกโลกเหนือในปีนี้จะเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก" OECD กล่าว และระบุเพิ่มเติมว่า การพุ่งขึ้นของราคาก๊าซและภาวะติดขัดด้านอุปทานก๊าซ จะส่งผลให้ในปี 2566 และ 2567 นั้น เศรษฐกิจในยุโรปและทั่วโลกจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นด้วย
OECD ยังคงสนับสนุนให้ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม เนื่องจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริงของประชาชน และปัญหาต่าง ๆ จะรุนแรงมากขึ้น หากธนาคารกลางล้มเหลวในการควบคุมเงินเฟ้อ
"ขณะนี้ การควบคุมเงินเฟ้อถือเป็นภารกิจอันดับหนึ่ง มิฉะนั้นเศรษฐกิจโลกจะเผชิญวิกฤตการณ์เงินเฟ้อรุนแรงเหมือนกับที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1970 สำหรับผมแล้ว ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินที่มากเกินไป ยังน้อยกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เราไม่ดำเนินการใด ๆ เลย" นายอัลวาโร ซานโตส เพเรร่า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก
สำหรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของประเทศรายใหญ่ในกลุ่ม OECD มีดังนี้:-
ประเทศ 2565 2566 2567 OECD 9.4% 6.57% 5.14% สหรัฐ 6.19% 3.52% 2.57% เยอรมนี 8.48% 8% 3.34% สหราชอาณาจักร 8.87% 6.61% 3.31% ญี่ปุ่น 2.33% 1.97% 1.67% บราซิล 8.9% 4.2% 4.5% ออสเตรเลีย 6.48% 4.53% 2.48%