สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ของออสเตรเลียปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในปีนี้ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ABS ระบุว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% และย่ำแย่กว่าในเดือนก.ย.ที่มีการขยายตัว 0.6%
ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2564 และสะท้อนถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อันเนื่องมาจากตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในไตรมาส 3 พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 32 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี
ABS กล่าวว่า การใช้จ่ายด้านค้าปลีกในทุกอุตสาหกรรมยกเว้นอาหารสดนั้น ลดลงอย่างมากในเดือนต.ค. โดยยอดขายในห้างสรรพสินค้าปรับตัวลดลงมากที่สุด ส่วนยอดการใช้จ่ายในร้านอาหารและการจัดส่งอาหารก็ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค.
ทั้งนี้ นายเบน ดอร์เบอร์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลสถิติการค้าปลีกของ ABS ระบุว่า "ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.อ่อนแรงลง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกันยาวนานถึง 9 เดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและการใช้จ่ายของผู้บริโภค"
ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.85% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ