มาตรวัดเงินเฟ้อสำคัญที่มีการเปิดเผยในสหรัฐและยูโรโซนในสัปดาห์นี้ต่างอ่อนกำลังลง ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และคาดการณ์เงินเฟ้อในกลุ่มนักลงทุนก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านห่วงโซ่อุปทานก็กระเตื้องขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามในยูเครน ส่วนต้นทุนอาหารและเชื้อเพลิงก็ปรับตัวดลงเช่นกัน
ขณะเดียวกัน การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มส่งผลเช่นกัน แม้จะล่าช้าไปบ้าง
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 9.8% ในไตรมาส 3/2565 เมื่อเทียบเป็นรายปี และจะอยู่ที่ 9.5% ในไตรมาส 4/2565 ก่อนจะลดเหลือ 5.3% ในช่วงสิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงยังคงมีอยู่ โดยห่วงโซ่อุปทานยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจเพิ่มขึ้นอีกครั้งหากจีนกลับมาเปิดเศรษฐกิจและแรงงานได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้จำเป็นต้องขึ้นค่าแรงต่อไป
"สำหรับกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย การที่เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด ไม่ได้แปลว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว" ทอม ออร์ลิก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กกล่าว พร้อมเสริมว่า "แม้เงินเฟ้อจะปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ก็ยังคงอยู่สูงกว่าจุดปลอดภัยสำหรับธนาคารกลางทั่วโลกอย่างมาก ทำให้จำเป็นต้องใช้นโยบายเข้มงวดต่อไปแม้เสี่ยงจะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย"