ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์เป็นวงกว้างว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย และผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง โดยราคาโภคภัณฑ์ อาหาร และพลังงานจะปรับลดลง เมื่อเทียบกับฐานของปีที่แล้วซึ่งราคาสินค้าประเภทดังกล่าวพุ่งขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อในวงกว้าง
ทว่าการเปิดประเทศของจีนนั้นอาจสั่นคลอนคาดการณ์ดังกล่าว โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กตั้งสมมุติฐานว่า หากจีนเปิดพรมแดนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี 2566 ย่อมจะส่งผลต่อโลกอย่างใหญ่หลวง เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนจะกลับมาฟื้นตัว นักเรียนนักศึกษาจะเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจะเริ่มต้นเดินทาง และผู้บริหารธุรกิจจะโดยสารเครื่องบินอีกครั้ง กรณีดังกล่าวมีแนวโน้มเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ตลาดที่อยู่อาศัยของจีนเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
บลูมเบิร์ก อิโคโนมิกส์มองว่า การเปิดประเทศของจีนจะหนุนราคาโภคภัณฑ์ทั่วโลก และสร้างห่วงโซ่อุปทานสำรอง ซึ่งจะกดดันราคาสินค้าและบริการจำนวนมาก โดยสมมุติว่าจีนเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบภายในกลางปีหน้า ราคาพลังงานก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 20% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐอาจพุ่งแตะ 5.7% ภายในช่วงสิ้นปีหน้า เทียบกับที่คาดการณ์ว่าอาจลดลงแตะ 3.9% ภายในกลางปีหน้า
กรณีดังกล่าวจะเป็นการพลิกบทบาทของจีน จากที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจำกัดเงินเฟ้อโลกในปีนี้ โดยราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำและการบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างที่เห็นได้ไม่บ่อยนัก ทั้งนี้ บลูมเบิร์ก อิโคโนมิกส์ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับปี 2565 ของจีนลงสู่ 3% จากเดิมที่คาดการณ์เอาไว้ 3.5% และลดคาดการณ์สำหรับปีหน้าสู่ระดับ 5.1% จากเดิมที่คาดการณ์เอาไว้ 5.7% โดยเครื่องบ่งชี้ต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่า ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลกระทบไปทั่วทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจโลก
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุในเดือนก.ย.ว่า ยอดซื้อน้ำมันของจีนจะลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ 2533 ในปีนี้ ยอดนำเข้าจากเกาหลีใต้ของจีนลดลงกว่า 25% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 การออกมาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดทำให้การสัญจรทางอากาศในจีนทรุดตัวลงแตะ 35% เมื่อเทียบกับในปี 2562 โดยเดิมทีจีนเป็นตลาดการบินภายในประเทศที่คับคั่งที่สุดในโลก โดยมีเที่ยวบินประมาณ 14,000 เที่ยวต่อวัน แต่ลดลงเหลือเพียงราว 2,800 เที่ยวในเดือนพ.ย.
การฟื้นตัวของจีนจะหนุนการนำเข้าน้ำมัน โภคภัณฑ์ และวัตถุดิบในประเทศ ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นอุปสงค์สำหรับที่นั่งสายการบิน ห้องพักโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ
"การกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของจีนนั้น ย่อมหนุนให้เงินเฟ้อโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยจะมีการเดินทางระหว่างประเทศ การขาย และการผลิตเพิ่มมากขึ้น" นางไอริส ผัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของบริษัทไอเอ็นจี กรุ๊ป เอ็นวี กล่าว