นายแจ็ค ซิว หัวหน้าฝ่ายการลงทุนประจำเกรทเทอร์ ไชน่าของธนาคารเครดิตสวิสเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของจีนมีแนวโน้มจะยังคงอยู่ต่ำกว่า 3% ต่อไปในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า และธนาคารกลางจีนก็พึงพอใจกับตัวเลขดังกล่าว
"เราไม่คิดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะเป็นปัญหาในจีน ซึ่งความจริงแล้ว ดัชนี CPI จะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 1% - 3% ในอนาคตอันใกล้ แม้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศจะพุ่งทะยานขึ้นศ แต่ CPI ในจีนยังคงอยู่ในระดับปานกลางเนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ" นายซิวให้สัมภาษณ์ในรายการ "Street Signs Asia" ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี
อย่างไรก็ตาม นายซิวเสริมว่า การอุปโภคบริโภคในจีนมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากประชาชนเริ่มชินกับการอยู่ร่วมกับโควิด-19 หลังมีการเปิดและปิดเศรษฐกิจสลับกันไปมาหลายครั้ง
"ในไตรมาส 2 ปี 2566 เราคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะเพิ่มขึ้นแตะ 6.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ และบางส่วนเป็นเพราะผู้คนกำลังใช้ชีวิตแบบปกติมากขึ้น" นายซิวกล่าว
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนี CPI เดือนพ.ย.ของจีนปรับตัวขึ้น 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอลงจากเดือนต.ค.ที่มีการขยายตัว 2.1% และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวลง 1.3% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ลดลง 1.3% ในเดือนต.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนี PPI เดือนพ.ย.ของจีนปรับตัวลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.4%
รายงานของ NBS ระบุว่า การชะลอตัวของดัชนี CPI และดัชนี PPI สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ภายในประเทศ อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในจีน รวมทั้งการที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด