ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งนำโดยนายนาโอฮิโกะ บาบา คาดการณ์ว่า มาตรการครั้งต่อไปของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะเป็นการยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ หลังจาก BOJ สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินทั่วโลกด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในการประชุมเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.)
"BOJ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกลไกตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เรามองว่า นั่นเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ มีแนวโน้มที่จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ" นายบาบากล่าว
ในการประชุมเมื่อวานนี้ คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และได้ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีให้เคลื่อนตัวในกรอบ -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25%
โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ BOJ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้านในวันข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือยุติการกำหนดกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตร
"อัตราดอกเบี้ยติดลบถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการเงินของ BOJ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ BOJ จะถอนนโยบายดังกล่าว หากยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%"
อย่างไรก็ดี การยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบอาจจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เมื่อพิจารณาจากภาระที่บรรดาสถาบันการเงินต้องแบกรับ
การแสดงความเห็นของโกลด์ แมนแซคส์เป็นไปในทิศทางเดียวกับนักวิเคราะห์รายอื่น ๆ โดยนายมาซามิชิ อาดาชิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นจากบริษัทยูบีเอส ซิเคียวริตีส์กล่าวว่า การที่ BOJ การขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรนั้น เป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ มีแผนที่จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) และอาจเป็นการปูทางไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566