สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธนาคารกลางทั่วโลกได้เปลี่ยนจากการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มาเป็นคุมเข้มเชิงปริมาณ (QT) โดยมาตรการหนึ่งของการผ่อนคลายเชิงปริมาณคือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อหนุนราคาพันธบัตรรัฐบาลและกดผลตอบแทนให้อยู่ในระดับต่ำ เพราะเท่ากับว่าต้นทุนการกู้ยืมเงินจะลดลงไปด้วย ซึ่งช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายในเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการหนึ่งในการคุมเข้มเชิงปริมาณคือการขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในทิศทางตรงกันข้าม และเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเคลื่อนไหวตรงกันข้ามกับราคาเสมอ
ความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับความคาดหวังของบรรดานักลงทุน เกี่ยวกับการยกเลิกการคุมเข้มนโยบายการเงินและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ โดยตลาดต่าง ๆ ปรับตัวขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้ออาจแตะจุดสูงสุดไปแล้วในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง
"ข้อมูลเงินเฟ้อนั้นดีมาก แต่ข้อกังวลหลักสำหรับปีหน้าของผมยังคงเป็นเรื่องเดิม ผมยังคงคิดว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยที่ไม่ถูกต้อง... ผมยังคงคิดว่าสถานการณ์ในเดือนก.ย.ปีนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ชัดเจน หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยังคงเดินหน้ากระตุ้นการใช้จ่ายต่อไป" นายทูกู๊ดให้สัมภาษณ์กับรายการ "Squawk Box Europe" ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อวันพฤหัสบดี (22 ธ.ค.)
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสัญญา 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4% ณ จุดหนึ่ง ในขณะที่นักลงทุนพยายามประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงจนทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต้องเข้าดำเนินการแทรกแซง เพื่อรับประกันเสถียรภาพทางการเงินของประเทศและป้องกันการล่มสลายแบบเป็นวงกว้างของกองทุนบำเหน็จบำนาญอังกฤษ
นอกจากนี้ นายทูกู๊ดระบุว่า การเปลี่ยนผ่านจากการผ่อนคลายเชิงปริมาณไปสู่การคุมเข้มเชิงปริมาณในปี 2566 จะส่งให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพุ่งขึ้น เพราะรัฐบาลต่าง ๆ จะออกพันธบัตรรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ธนาคารกลางไม่ต้องการซื้ออีกต่อไป