นักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์เป็นเสียงเดียวกันมาหลายเดือนแล้วว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงเวลาหนึ่ง โดยส่วนใหญ่มองว่าภาวะถดถอยจะเริ่มต้นขึ้นประมาณต้นปี 2566 แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะรุนแรงและยาวนานเพียงใด
"ในอดีต เมื่อคุณเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงและธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ผลที่ตามมาคือเกิดเศรษฐกิจเผชิญภาวะขาลง หรือถดถอย" นายมาร์ก ซานดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทมูดี้ส์ อนาไลติกส์กล่าว พร้อมเสริมว่า "สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว เราเคยเผชิญเรื่องราวเช่นนี้มาแล้ว เมื่อเงินเฟ้อพุ่งสูงและเฟดรับมือด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจก็ลงเอยด้วยการตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น"
นายซานดีกำลังจับตาบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าเฟดสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เขาระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันในระดับสูงว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะทรุดตัวลง
"บรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทต่าง ๆ ไม่เคยพร้อมใจกันเอ่ยถึงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมาก่อนในช่วงที่ภาวะดังกล่าวคืบคลานเข้ามาในอดีต แต่ขณะนี้ดูเหมือนบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่างเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่าเรากำลังพลัดเข้าสู่ภาวะถดถอย ...ทุกคนในทีวีต่างพูดว่าเศรษฐกิจถดถอย นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนพูดว่าเศรษฐกิจถดถอย ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน" นายซานดีกล่าว
ขณะนี้เฟดต้องชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากยื่นมือเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจในช่วงที่เผชิญภาวะขาลง 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฟดช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0% และส่งเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดด้วยการเพิ่มการถือครองสินทรัพย์หลายล้านล้านดอลลาร์ในงบดุล แต่ขณะนี้เฟดกำลังลดงบดุลและขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจากระดับ 0% ในเดือนมี.ค. สู่กรอบ 4.25% - 4.50% ในเดือนนี้
แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดไม่ได้กังวลเรื่องเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลกระทบต่อกำลังการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วเศรษฐกิจผ่านห่วงโซ่อุปทานและการขึ้นค่าจ้าง
ขณะนี้เฟดต้องต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างจริงจัง โดยส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมสู่ระดับประมาณ 5.1% ภายในปีหน้า และนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ในระดับสูงต่อไป เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยแล้วในขณะนี้ โดยยอดขายบ้านลดลง 35.4% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยการจำนองระยะ 30 ปีเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 7% และเงินเฟ้อผู้บริโภครายปียังคงร้อนแรงที่ระดับ 7.1% ในเดือนพ.ย.