ราคาบอนด์ทั่วโลกร่วง ตลาดกังวลจีนเปิดประเทศหนุนอัตราเงินเฟ้อพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2022 09:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวลงท่ามกลางวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่จีนตัดสินใจเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออกนั้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ การปรับตัวลงของราคาพันธบัตรส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้น เนื่องจากราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยุโรปพุ่งขึ้นมากที่สุดในโลก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 30 ปี พุ่งขึ้น 0.18% แตะที่ 2.44% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. ตามด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี พุ่งขึ้น 0.11% แตะที่ 3.94% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.10% แตะที่ 3.85%

อย่างไรก็ดี วอลุ่มการซื้อขายในตลาดพันธบัตรทั่วโลกอยู่ในระดับเบาบาง เนื่องจากตลาดในหลายประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักรยังคงปิดทำการเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส

จีนประกาศเปิดประเทศเร็วกว่าคาดทั้งขาเข้าและขาออก โดยจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 หลังจากที่มีการบังคับใช้มานาน 3 ปีเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันจีนจะกลับมาดำเนินการออกวีซ่าให้กับชาวจีนที่อาศัยในแผ่นดินใหญ่สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 นอกจากนี้ จีนจะผ่อนคลายมาตรการจัดการเกี่ยวกับโควิด-19 สู่ระดับ Category B จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ Category A ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันขั้นสูงสุด

เกอร์ชอน ดิสเทนเฟลด์ นักวิเคราะห์จากบริษัทอัลลิอันซ์แบร์สเติร์น (AllianceBernstein) กล่าวว่า "เรายังคงอยู่ในโลกที่มี 'ข่าวดีในข่าวร้าย' โดยข่าวดีคือจีนซึ่งมีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกนั้น กำลังจะเปิดประเทศ แต่ข่าวร้ายคือการเปิดประเทศของจีนจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับความต้องการของธนาคารกลางทั่วโลก"

แม้ว่านักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าตลาดพันธบัตรโลกจะทำผลงานดีขึ้นในปี 2566 แต่นักลงทุนยังคงกังวลว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะส่งผลให้ธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลกเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ดังจะเห็นได้จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดการเงินทั่วโลกด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งตลาดมองว่าเป็นการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ