นักวิเคราะห์เตือน 5 ปัจจัยเสี่ยงจ่อทุบตลาดหุ้นทั่วโลกปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2022 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญภาวะตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปีในปี 2565 และตลาดพันธบัตรเกิดภาวะ inverted yield curve หลายครั้งซึ่งส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่นักลงทุนบางกลุ่มมองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะดีขึ้นในปี 2566 โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการที่จีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง รวมทั้งข้อพิพาทในยุโรปเริ่มบรรเทาลง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยง และอาจทำให้ตลาดเผชิญกับความผันผวนอีกครั้งในปี 2566

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ส่งสัญญาณเตือน 5 ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกในปี 2566 ดังนี้;

1. วิกฤตเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ

แมทธิว แมคเลนแนน นักวิเคราะห์จากบริษัทเฟิร์ส อีเกิล อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์กล่าวว่า "นักลงทุนในตลาดพันธบัตรกำลังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่นั่นอาจเป็นมุมมองที่ผิด เพราะความเสี่ยงที่แท้จริงคือค่าจ้างที่พุ่งสูงขึ้นและแรงกดดันในฝั่งอุปทาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงขึ้นและทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้นด้วย"

"สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในช่วงกลางปี 2566 และผลที่ตามมาคือตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรจะร่วงลง, ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และตลาดเกิดใหม่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น จากนั้นก็จะมีกระแสความวิตกกังวลเกิดขึ้นว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" แมคเลนแนนกล่าว

2. ตลาดหุ้นจีนทรุดตัว

ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นราว 35% จากระดับต่ำสุดในเดือนต.ค. เนื่องจากความหวังที่ว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์มาเป็นเวลานาน

แต่ขณะนี้ความหวังดังกล่าวได้ถูกบดบังด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักในจีนอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของจีนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่อันตราย และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทรุดตัวลง โดยรายงานระบุว่าโรงพยาบาลในจีนล้นไปด้วยผู้ป่วยและมีการจองคิวจัดงานศพจำนวนมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

"กราฟที่แสดงตัวเลขการติดเชื้อในจีนจะพุ่งขึ้นอีก และจะพุ่งถึงจุดสูงสุดใน 1 หรือ 2 เดือนหลังเทศกาลตรุษจีน เราคาดว่าจีนจะประสบความสำเร็จในการเปิดประเทศ แต่ผลที่ตามมาคือการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19" มาร์เซลลา โชว์ นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน เชสกล่าว

นักวิเคราะห์ยังกล่าวด้วยว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนยังคงเปราะบาง และการทรุดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะโลหะที่ใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมและแร่เหล็ก

3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน

จอห์น เวล นักวิเคราะห์จากบริษัทนิกโก แอสเซท แมเนจเมนท์กล่าวว่า "หากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเลวร้ายลง และหากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยื่นมือเข้ามาเป็นปรปักษ์โดยตรงกับรัสเซียและใช้มาตรการคว่ำบาตรในระดับที่รุนแรงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบในด้านลบตามมาอย่างแน่นอน"

"นอกจากนี้ หากมีการคว่ำบาตรบรรดาชาติพันธมิตรของรัสเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียและจีน ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะทำให้เกิดภาวะชะงักงันของอุปทานสินค้าทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอาหาร พลังงาน และสินค้าอื่น ๆ เช่นปุ๋ย โลหะ และเคมีภัณฑ์"

"สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือหากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงคราม ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีสัญญาณในเรื่องนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ และวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของยูเครน" เวลกล่าว

4. ตลาดเกิดใหม่ชะลอตัว

นักลงทุนจำนวนมากคาดการณ์ว่าดอลลาร์จะชะลอการแข็งค่าในปี 2566 และต้นทุนพลังงานจะปรับตัวลง ซึ่งสองปัจจัยนี้จะช่วยบรรเทาแรงกดดันในตลาดเกิดใหม่ แต่หากทั่วโลกประสบความล้มเหลวในการควบคุมเงินเฟ้อก็จะส่งผลให้ปัจจัยบวกทั้งสองนี้เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่ความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นอีกครั้ง

เชน โอลิเวอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอเอ็มพี เซอร์วิสเซสกล่าวว่า "เราคงไม่สามารถก้าวผ่านปี 2566 ไปได้อย่างสวยงามหากตลาดเกิดใหม่ย่ำแย่ เรามองว่ายังคงมีความเป็นไปได้สูงที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากหลายประเทศในกลุ่มนี้มีหนี้สินในรูปสกุลเงินดอลลาร์"

"ผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้จะสร้างความเสียหายอย่างฉับพลันให้กับรัฐบาลในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากต้องแบกรับภาระหนี้สินในรูปดอลลาร์มากขึ้น" โอลิเวอร์กล่าว

5. โควิดระบาดไม่จบ

หากโรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นหรือมีการกลายพันธุ์ของไวรัสมากขึ้น หรือแม้สายพันธุ์ปัจจุบันที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง ก็จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับห่วงโซ่อุปทาน และสิ่งที่จะตามมาคือการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง

"เราเชื่อว่า เศรษฐกิจมหภาคในประเทศขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้า ขณะนี้เรามีมุมมองเป็นลบต่อแนวโน้มตลาด ในขณะที่นักลงทุนต่างก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย" มาร์เซลลา โชว์ นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน เชสกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ