IMF เตือนศก.โลกปี 66 ยากลำบากมากขึ้น เหตุศก.สหรัฐ-จีน-ยุโรปชะลอตัวพร้อมกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 2, 2023 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งเป็น 3 แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก

"ปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบากมากกว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนชะลอตัวลงในเวลาเดียวกัน" นางจอร์เจียวาให้สัมภาษณ์ในรายการ "Face the Nation" ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสในวันอาทิตย์ (1 ม.ค.)

ในรายงานเดือนต.ค.ปีที่แล้ว IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2566 เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ รวมทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการที่ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

หลังจากนั้น จีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์และเริ่มเปิดเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ราบรื่น เนื่องจากผู้บริโภคของจีนยังคงกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้น

"ในปี 2564 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ระดับต่ำกว่าเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ส่วนในปี 2566 เราคาดว่ายอดการติดเชื้อโควิด-19 ในจีนจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และฉุดรั้งเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก" นางจอร์เจียวากล่าว

IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปี 2565 และ 2566 ลงสู่ระดับ 4.0% และ 4.3% ตามลำดับ จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.9% และ 5.1% ตามลำดับ โดยระบุว่า การที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน, อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย

ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.4% หลังจากมีการขยายตัว 8.1% ในปี 2564 นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.4% ในปี 2566 และขยายตัว 4.5% ในปี 2567

นอกจากนี้ นางจอร์เจียวายังแสดงความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ โดยระบุว่า แม้สหรัฐมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เนื่องจากตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง แต่สหรัฐยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ นั่นคือผลกระทบจากการที่เฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ