อินโดนีเซียวางแผนจัดตั้งตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในปี 2566 ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านอำนาจการกำกับดูแลสินทรัพย์คริปโทฯ ไปให้กับสำนักงานบริการด้านการเงิน (FSA)
ในปัจจุบัน สินทรัพย์คริปโทฯ ในอินโดนีเซียมีการซื้อขายควบคู่ไปกับสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ภายใต้การดูแลของสำนักงานกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodity Futures Trading Regulatory Agency) หรือ Bappebti โดยนายดิดิด นูร์ดิยาโมโก รักษาการผู้อำนวยการ Bappebti กล่าวว่า FSA จะเข้าควบคุมดูแลสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวตลอดช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า จนกระทั่งถึงเวลาจัดตั้งตลาดซื้อขายคริปโทฯ โดยแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาคการเงินที่กว้างขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ที่ผ่านมานั้น อินโดนีเซียให้การสนับสนุนสินทรัพย์คริปโทฯ แม้มีความกังวลว่าสินทรัพย์ประเภทนี้จะเข้ามาแข่งขันกับรูเปียห์ซึ่งเป็นสกุลเงินเพียงสกุลเดียวที่สามารถซื้อขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในประเทศ ทางด้านธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ออกรายงานสมุดปกขาวเพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเมื่อไม่นานมานี้ อินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายรับรองให้สกุลเงินคริปโทฯ และสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องมีการกำกับดูแล
ทั้งนี้ นักลงทุนรายใหม่ ๆ ยังคงเดินหน้าเข้าลงทุนในตลาดคริปโทฯ แม้ว่ากิจกรรมการซื้อขายในตลาดทรุดตัวลงในปีที่แล้ว โดยมีนักลงทุนคริปโทฯ จำนวนมากถึง 16 ล้านคนในอินโดนีเซียในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 จากจำนวน 11.2 ล้านคนในช่วงสิ้นปี 2564 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายลดลงสู่ระดับประมาณ 300 ล้านล้านรูเปียห์ (1.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งห่างไกลอย่างมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขาย 859 ล้านล้านรูเปียห์ในปีก่อนหน้า