สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หลังทางการจีนปราบปรามผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากมาเป็นเวลานาน 2 ปี และล่าสุดได้ทำการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ลงมาบ้างแล้ว แต่ผู้พัฒนาอสังหาฯ รายย่อยยังคงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของกิจการต่อไป
ตัวอย่างจากกรณีดังกล่าวได้แก่ เสฉวน หลางกวง ดีเวลลอปเมนต์ (Sichuan Languang Development) ผู้พัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยและสำนักงานในเมืองเฉิงตู ที่ต้องปลดพนักงานออกประมาณ 90% นับตั้งแต่ต้นปี 2564 และมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม 1.17 หมื่นล้านหยวน (1.7 พันล้านดอลลาร์) ในไตรมาส 3/2565 จนต้องขายสินทรัพย์เพื่อความอยู่รอดของบริษัท
ขณะเดียวกัน นายหยาง อู่เจิง ประธานวัย 27 ปีของบริษัท ได้พยายามติดต่อบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่รวมถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพหลายสิบรายเพื่อขอเงินช่วยเหลือ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
"พูดง่าย ๆ ก็คือ พวกเราหลายคนกำลังพยายามเอาชนะเวลา" นายหยางกล่าว โดยเป้าหมายปัจจุบันของนายหยางคือ "รักษาทีมงานไว้ ขณะเดียวกันก็หาทางก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างใหม่ การลงทุนเชิงกลยุทธ์ หรือรอให้ตลาดพลิกฟื้นตัว"
นับตั้งแต่กลางปี 2563 ผู้กำหนดนโยบายของจีนได้พยายามลดความเสี่ยงของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น จำกัดวงเงินปล่อยสินเชื่อของธนาคาร และจำกัดการกู้ยืมจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายการเงินที่เข้มงวด ซึ่งสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว มาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องโหดร้ายอย่างมาก
"ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนประกอบด้วยรายย่อยจำนวนมาก ดังนั้นนักพัฒนารายย่อยจึงมีส่วนสำคัญต่อภาคอสังหาฯ ทั้งทางต้นน้ำและปลายน้ำ และต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ" เซร์ลีนา เจิ้ง นักวิเคราะห์สินเชื่ออาวุโสของเครดิตไซต์ส สิงคโปร์ (Creditsights Singapore LLC) กล่าว "นักพัฒนาอสังหาฯ ระดับภูมิภาคบางรายมีส่วนสำคัญสำหรับการขายที่ดินในท้องถิ่น ดังนั้นจึงสำคัญต่อสภาวะทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น"