สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียน รีวิวรายงานว่า ไม่มีประเทศใดเข้ามาลงทุนในไทยมากเท่ากับญี่ปุ่น โดยบริษัทญี่ปุ่นทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในไทยจนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำของภูมิภาค โดยโตโยต้าและบริษัทในเครือจ้างพนักงาน 275,000 รายในไทย โดยข้อมูลการวิเคราะห์บางชิ้นประเมินว่า โตโยต้าคิดเป็นสัดส่วน 4% ของ GDP ไทย
ขณะที่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ระบุว่า ญี่ปุ่นคิดเป็น 32% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ณ เดือนมี.ค. 2565
แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมรถยนต์ และเศรษฐกิจโลกโดยรวมกำลังสร้างความเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย โดยเฉพาะในช่วงที่จีนผงาดขึ้นและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้จีนกลายมาเป็นคู่แข่งรายสำคัญของญี่ปุ่นในไทยที่ขนานนามตัวเองว่าเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
ทั้งนี้ ก่อนนายโตโยดะเดินทางเยือนไทยนั้น บริษัทบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้ลงนามข้อตกลงซื้อที่ดินในจังหวัดระยอง เพื่อเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 โดย JETRO ระบุว่า การทำธุรกรรมครั้งนี้มีแนวโน้มทำให้จีนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในไทยในปี 2565 โค่นบัลลังก์ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2537
แม้รถยนต์ไฟฟ้ายังคงคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในไทย แต่แบรนด์รถยนต์จีนครองส่วนแบ่งใหญ่สุดของสัดส่วนขนาดเล็กนี้ โดยเกรท วอลล์ มอเตอร์ ครองส่วนแบ่งตลาด 45% ของสัดส่วนขนาดเล็กดังกล่าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ส่วนเอสเอไอซี มอเตอร์ของจีนครองส่วนแบ่งตลาด 24%
นอกจากนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ของไต้หวันยังประกาศในเดือนก.ย.ปีที่แล้วว่า จะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยประมาณปี 2567
อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งระดับภูมิภาค แม้ไทยมีสัดส่วน FDI โดยรวมมากกว่าอินโดนีเซียหรือเวียดนาม แต่ในแง่ของการลงทุนใหม่ ๆ นั้น อินโดนีเซียและเวียดนามแซงหน้าไทยมาตั้งแต่ปี 2557
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ไทยมีข้อเสียเปรียบด้านประชากร โดยปัจจุบันไทยมีประชากร 71 ล้านคน เทียบกับเวียดนามที่ 97 ล้านคน และอินโดนีเซีย 273 ล้านคน นอกจากนี้ ประชากรไทยยังมีอายุมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ โดยหากปราศจากแรงงานใหม่และขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น สถานะของไทยในภูมิภาคก็ย่อมเผชิญกับความเสี่ยง