จำนวนประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษในปี 2565 โดยอัตราการเกิดของประเทศร่วงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าวิกฤตด้านประชากรมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงอยู่แล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า จำนวนประชากรโดยรวมของจีนลดลง 850,000 คน แตะที่ 1.4118 พันล้านคนในปี 2565 จากระดับ 1.4126 พันล้านคนในปี 2564
ผู้หญิงในจีนคลอดบุตรลดลง 9.98% แตะที่ 9.56 ล้านคนในปี 2565 จากจำนวน 10.62 ล้านคนในปี 2564
อัตราการเกิดทั่วประเทศของจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่ที่ 6.77 คนต่อประชากรทุก 1,000 คนในปี 2565 ซึ่งลดลงจาก 7.52 คนในปี 2564 และเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 2492
ขณะที่อัตราการเสียชีวิตทั่วประเทศอยู่ที่ 7.37 คนต่อประชากรทุก 1,000 คนในปี 2565 ส่งผลให้อัตราการเติบโตทั่วประเทศติดลบ 0.6% ต่อประชากรทุก 1,000 คน
สำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (SCMP) ของจีนระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ประชากรจีนลดน้อยลงได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูง คนรุ่นใหม่มีอุดมคติเกี่ยวกับครอบครัวและการแต่งงานเปลี่ยนไปจากในอดีต และเศรษฐกิจที่เติบโตชะลอตัวลงท่ามกลางการบังคับใช้นโยบายโควิด-19 ที่เข้มงวดของจีน
ประชากรจีนเติบโตชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2559 แม้จีนพยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการออกมาตรการสนับสนุนการเกิด ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและท้องถิ่น แต่แทบไม่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนสร้างครอบครัวและให้กำเนิดบุตรได้
องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า อินเดียจะขึ้นแท่นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปีนี้ แทนที่จีนในปีนี้ โดยประชากรจีนมีแนวโน้มลดลงแตะ 1.313 พันล้านคนภายในปี 2593 และหลุดระดับ 800 ล้านคนภายในปี 2643