นายอาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทยของเจพีมอร์แกน เปิดเผยว่า เงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้จะช่วยพลิกฟื้นการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ทรุดตัวลงในช่วงที่ผ่านมา และหนุนบริษัทไทยในการซื้อกิจการในต่างประเทศ
คุณอาจดนัยเปิดเผยว่า การทำ IPO จะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งแกร่งและสถานการณ์ที่ดีขึ้นของไทย หลังการเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 12% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยพุ่งขึ้นกว่า 5% เฉพาะในเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในเอเชียทั้งในช่วง 6 เดือนและในเดือนนี้
ตัวอย่างแรกสำหรับตลาด IPO คือการเสนอขายหุ้นของบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ของไทย หลังจากที่ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ตัดสินใจชะลอการเปิดขาย IPO ไปในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดพลังงาน เงินเฟ้อสูง และการล็อกดาวน์ของจีน
เจพีมอร์แกนอยู่ในคณะที่ปรึกษาสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ดังกล่าว โดยคุณอาจดนัยคาดการณ์ว่าจะเปิดเสนอขายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
"เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้เปลี่ยนแปลงมุมมองตลาด เราเชื่อว่าต่างชาติจะกลับมาสนใจไทยอีกครั้ง" คุณอาจดนัย กล่าว "ขณะเดียวกัน บริษัทในเอเชีย ซึ่งรวมถึงบริษัทไทย กำลังพิจารณาขยายฐานธุรกิจไปต่างประเทศ โดยเงินบาทที่แข็งค่าจะยังเป็นประโยชน์ให้กับบริษัทไทยที่มุ่งมั่นขยายธุรกิจไปต่างประเทศ"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หนึ่งในสัญญาณบวกคือดัชนีหุ้น SET ของไทยที่พุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ในเดือนนี้ โดยจนถึงตอนนี้กองทุนโลกป้อนเงินเข้าสู่หุ้นไทยสุทธิ 590 ล้านดอลลาร์ เสริมกับกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าระดับประวัติการณ์ที่ 5.96 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565
ขณะที่มีการระดมเม็ดเงินประมาณ 4.1 พันล้านดอลลาร์ผ่าน IPO ไทยในปี 2565 ซึ่งลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้านั้น แต่สถานการณ์จะย่ำแย่กว่านั้น หากไม่ได้แรงหนุนจากนักลงทุนในไทย
"หากคุณดูตัวเลข IPO ในไทยเมื่อปีที่ผ่านมาจะพบว่าได้แรงหนุนจากกองทุนในไทยไปถึง 70-80%" คุณอาจดนัย กล่าว "อุปสงค์จากต่างชาติอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"
อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ไม่ได้เป็นข่าวดีสำหรับผู้ส่งออก ผู้ผลิต และบริษัทบางแห่งของไทย ซึ่งเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วกัดกร่อนความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย