UN คาดศก.โลกปีนี้โตเพียง 1.9% เตือนเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดศก.ทรุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 26, 2023 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2566 (World Economic Situation and Prospects 2023) โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.9% ซึ่งลดลงอย่างมากจากปี 2565 ที่ประมาณการไว้ว่าอาจจะขยายตัว 3.0% โดยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 เป็นหนึ่งในอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี

อย่างไรก็ดี ในรายงานดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธ (25 ม.ค.) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะขยายตัว 2.7% เนื่องจากคาดว่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคนั้น จะเริ่มบรรเทาลงในปีหน้า

UN เปิดเผยในรายงานว่า ภาวะเงินเฟ้อสูง ประกอบกับการที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเชิงรุก และความไม่แน่นอนในหลายด้าน ๆ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้อย่างเชื่องช้า ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้หลายประเทศ ทั้งประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2566

UN ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในสหรัฐ สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้อ่อนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านทางช่องทางต่าง ๆ มากมาย

ส่วนในปี 2566 UN คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐจะขยายตัวเพียง 0.4% หลังจากที่มีการขยายตัว ประมาณ 1.8% ในปี 2565

ขณะเดียวกันคาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะขยายตัวถึง 4.8% โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงปลายปี 2565 รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง

UN เตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ประกอบกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และภาวะเปราะบางที่เกิดจากวิกฤตหนี้สินนั้น จะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะยิ่งทำให้ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ UN เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายรัดเข็มขัดด้านการคลัง เนื่องจากจะขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เปราะบางมากที่สุด อีกทั้งส่งผลกระทบต่อเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น

UN แนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการจัดสรรการใช้จ่ายด้านสาธารณะ ผ่านทางการใช้นโยบายแทรกแซงโดยตรงเพื่อกระตุ้นการสร้างงานและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้นั้น รัฐบาลจะต้องเสริมสร้างระบบป้องกันสังคมให้แข็งแกร่ง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายอุดหนุนแบบเจาะจงเป้าหมายและใช้เพียงชั่วคราว ตลอดจนการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยการปรับลดภาษีการอุปโภคบริโภคหรือภาษีศุลกากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ