สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่อเค้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (2 ก.พ.) โดยเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายหันมาให้ความสนใจอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แทนที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป
แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายพอล ฮอลลิงส์เวิร์ธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำยุโรปของธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ (BNP Paribas) กล่าวว่า "เราคิดว่าต้องใช้เวลายาวนานขึ้นอย่างมาก กว่าที่แรงกดดันเงินเฟ้อจากภาคบริการจะชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนยืดหยุ่นต่อภาวะตื่นตระหนกด้านพลังงานและตลาดแรงงานยังคงตึงตัว"
นอกจากนี้ เศรษฐกิจในยูโรโซนมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่คาดการณ์ และสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจหดตัวได้ในไตรมาส 4/2565 โดยเศรษฐกิจของฝรั่งเศสและสเปนขยายตัวขึ้น ซึ่งชดเชยภาวะเศรษฐกิจหดตัวในอิตาลีและเยอรมนี
ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นครั้งแรกในหนึ่งรอบปี โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่จีนเปิดประเทศและอุปสงค์ที่มีเสถียรภาพของสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลดีต่อกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมถึงจีนและสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศในยูโรโซน
นายมาร์ค วอลล์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำธนาคารดอยซ์แบงก์ระบุว่า "ก๊าซสำรองเพิ่มสูงขึ้นและราคาก๊าซปรับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มลดลงและความไม่แน่นอนกำลังลดลง ดังนั้น เราจึงได้ตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยออกจากการคาดการณ์ในปี 2566 ของเรา"
ทั้งนี้ นายวอลล์มองว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในสัปดาห์นี้ ก่อนจะปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนมี.ค. และ 0.25% ในเดือนพ.ค. โดยจบลงด้วยอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายที่ 3.25% พร้อมระบุว่า "เราคาดว่า ECB จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับสุดท้ายไปจนถึงกลางปี 2567 แล้วจึงเริ่มปรับลดลงครั้งละ 0.25% ต่อไตรมาส จนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยหวนคืนสู่ระดับกลางในปี 2568"