ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (1 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 2% หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด และนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุว่า เงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,092.96 จุด เพิ่มขึ้น 6.92 จุด หรือ +0.02%
-- นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (1 ก.พ.) โดยระบุว่า เงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง และเขามองว่าภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง (Disinflationary) ในสหรัฐเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในขณะนี้
"นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ผมจะพูดว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงในสหรัฐได้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว โดยนับจนถึงขณะนี้มาตรวัดเงินเฟ้อในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับที่ดีมาก"
-- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2550
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565
-- ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนที่จะส่งนายพลคนหนึ่งไปยังเมียนมาเพื่อหารือกับผู้นำรัฐบาลทหารเกี่ยวกับการดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
ปธน.วิโดโดคาดหวังว่าเมียนมาจะสามารถถอดบทเรียนจากความสำเร็จของอินโดนีเซียในการดำเนินการดังกล่าว
-- สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา (NDSC) ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน หลังจากที่ประกาศเดิมได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ม.ค.
แถลงการณ์ของ NDSC ระบุว่า เมียนมายังคงเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้ผู้บัญชาการกองทัพปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย โดยประกาศดังกล่าวสอดคล้องตามมาตรา 425 แห่งรัฐธรรมนูญเมียนมา
-- สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 572,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่งในเดือนธ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 10.25 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 10.44 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ย.
นักวิเคราะห์ระบุว่า การพุ่งขึ้นของตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน จะเป็นปัจจัยหนุนการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ เนื่องจากพนักงานจะมีอำนาจต่อรองในการขอขึ้นค่าแรงต่อนายจ้าง
-- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 300,000 บาร์เรล
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล
-- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าทรงตัวจากเดือนพ.ย.
เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 7.7% ในเดือนธ.ค.
-- เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.9 ในเดือนม.ค. จากระดับ 46.2 ในเดือนธ.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 46.8
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
-- คณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ได้เสร็จสิ้นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อคืนที่ผ่านมา
JMMC ออกแถลงการณ์ระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้โอเปกพลัสคงนโยบายปัจจุบันในการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 2566
-- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ เกาหลีใต้จะเปิดเผยตราเงินเฟ้อเดือนม.ค., เยอรมนีมีกำหนดเปิดเผยยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนธ.ค., อังกฤษจะเปิดเผยธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย, อียูจะเปิดเผยธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย และสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค.