เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และควรตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงไว้เป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงสูงมาก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เจ้าหน้าที่เฟด 4 คนได้แสดงความเห็นที่ต่างวาระกันในวันพุธ (8 ก.พ.) โดยนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการเฟดกล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาคันซอส์ว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบ ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง
"ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และเฟดยังคงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป" นายวอลเลอร์กล่าว โดยเขาไม่ได้ระบุว่าเฟดควรจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับใด โดยกล่าวแต่เพียงว่า มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว
ขณะที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่คุมเข้ม (Restrictive Level) ต่อไปอีกประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับตัวลงสู่ระดับต่ำเท่ากับในช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด
อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนม.ค. แต่นายวิลเลียมส์กล่าวว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% หลังจากที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ไปแล้วหลายครั้งในปี 2565
ทางด้านนางลิซา คุก ผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมเงินเฟ้อ และจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ดี เธอมองว่าเฟดควรจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
"เรายังไม่เสร็จสิ้นภารกิจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเรายังจำเป็นต้องตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับที่คุมเข้มและมีประสิทธิภาพต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เราควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เรามีเวลาในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากที่เราได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา" นางคุกกล่าว
นอกจากนี้ นายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิสกล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งเมืองบอสตันว่า "เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมการขยายตัวของค่าจ้าง ในมุมมองของผมนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานมากนักที่บ่งชี้ว่าการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงาน ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องทำให้ตลาดแรงงานเข้าสู่ภาวะสมดุล"