บรรดานักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีในไทยหวั่นวิตกต่อกระแสการล่มสลายของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) เมื่อปี 2565 ดังนั้นจึงหันมาซบบริษัทคริปโทฯที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกฎระเบียบของทางการในประเทศ ซึ่งช่วยให้บริษัทเหล่านี้หายใจทั่วท้องยิ่งขึ้นท่ามกลางภาวะตลาดซบเซาอย่างหนัก
คอยน์เกกโค (CoinGecko) ระบุว่า ปริมาณการซื้อขายคริปโทฯในบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลไทยทรุดตัวลงถึง 79% เมื่อปีที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคที่ตึงตัวขึ้นและข่าวอื้อฉาวที่กัดกร่อนความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมคริปโทฯ
อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งตลาดของบิทคับ (Bitkub) เติบโตแตะ 75.4% เนื่องจากวิกฤตสภาพคล่องของซิปเม็กซ์ (Zipmex) ซึ่งเป็นบริษัทแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่อันดับสองของไทย ทำให้นักลงทุนไทยมีตัวเลือกน้อยลงในการหันมาฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในบริษัทในประเทศ ในช่วงที่เกิดวิกฤตสภาพคล่องขึ้นในกลุ่มบริษัทแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลและกลุ่มผู้ปล่อยสินเชื่อทั่วโลก
"ตราบใดที่ยังไม่มีคู่แข่งที่แข็งแกร่ง บิทคับจะยังเป็นผู้นำและครองตลาดในไทย" นายจง หยางชาน หัวหน้าฝ่ายวิจัยคอยน์เกกโคกล่าวต่อสำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย
ปริมาณการเทรดบนแพลตฟอร์มบิทคับเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวแตะ 1.39 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ไบแนนซ์ (Binance) บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโทฯระดับโลกจากจีน ยกเลิกข้อเสนอที่จะให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ FTX โดยปริมาณการเทรดบนบิทคับเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าวเป็นเวลา 3 วันจนกระทั่ง FTX ยื่นขอล้มละลายจนนำไปสู่ภาวะตลาดปั่นป่วนอย่างรุนแรง