แบงก์ชาติในเอเชียแห่เพิ่มทุนสำรอง เหตุดอลลาร์ส่อเค้าแข็งค่ารับเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2023 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียซึ่งนำโดยธนาคารกลางอินเดียนั้น ต่างพากันเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอีกครั้ง เพื่อจะปกป้องค่าเงินของตนเอง หากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

ข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า ธนาคารกลางอินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศรวมกันประมาณ 1.32 แสนล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2565 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินในทุนสำรองที่สูญเสียไปในปี 2565 โดยธนาคารกลางเหล่านี้เพิ่มทุนสำรองด้วยการทุ่มซื้อสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากเห็นว่าการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงในเวลานั้นจะช่วยให้เม็ดเงินในทุนสำรองมีมูลค่าสูงขึ้น

รายงานระบุว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางเหล่านี้ปรับตัวลดลง 2.43 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 เนื่องจากธนาคารกลางใช้เงินจำนวนมากในการปกป้องค่าเงินในประเทศที่ทรุดตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยการเพิ่มทุนสำรองจะช่วยให้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียสามารถรับมือกับสกุลเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์สินทรัพย์เสี่ยง

ส่วนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินส่วนใหญ่ในเอเชียแข็งค่าขึ้น นำโดยเงินบาทของไทยและเปโซฟิลิปปินส์ อันเนื่องมาจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐได้ทำให้กระแสคาดการณ์ดังกล่าวเริ่มแผ่วลง

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2%

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ