ทีมนักวิเคราะห์ของ IMF ซึ่งนำโดยคริชนา ศรีนิวาสาน, โธมัส เฮลบลิง และชานากา เจ พีริส เปิดเผยในบล็อกโพสต์ที่เผยแพร่ในวันนี้ (21 ก.พ.) ว่า ธนาคารกลางจะต้อง "เฝ้าระวังตลอดเวลา" เพราะแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งนับรวมราคาอาหารและพลังงาน (Headline Inflation) จะชะลอตัวลง แต่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง
รายงานของ IMF ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของสกุลเงินต่าง ๆ ในท้องถิ่น รวมทั้งการชะลอตัวของต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์และการขนส่งทั่วโลก แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบรอบที่สองนั้นยังคงไร้ทิศทาง และการที่จีนเปิดประเทศก็อาจจะส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีก
"ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียควรใช้ความระมัดระวังในการให้คำมั่นสัญญาเรื่องการรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันธนาคารกลางยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ากำลังชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของธนาคารกลาง ส่วนในญี่ปุ่นนั้น เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานแล้ว เรามองว่าการปรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นนั้นจะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างฉับพลันในภายหลังได้" IMF ระบุในรายงาน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกต่างก็หันไปใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าคาด ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีเมื่อต้นเดือนก.พ. เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานพุ่งขึ้น 6.9% ในไตรมาส 4/2565 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานในอินเดียยังคงอยู่เหนือระดับ 6% ติดต่อกันยาวนานถึง 16 เดือน ซึ่งทำให้ธนาคารกลางอินเดียส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติม