กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยรายงานเมื่อวันจันทร์ (20 ก.พ.) ว่า อุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญเมื่อปีที่ผ่านมานั้นเริ่มลดน้อยลงบ้างแล้ว โดยภาวะทางการเงินโลกเริ่มผ่อนคลาย ราคาอาหารและน้ำมันปรับตัวลง และเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น
รายงานระบุว่า พัฒนาการเหล่านี้ช่วยหนุนทิศทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.7% ในปี 2566 จากระดับ 3.8% ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลายเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดในกลุ่มภูมิภาคหลักของโลกและเป็นจุดที่สดใสท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
IMF ระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มขยายตัว 5.3% ในปีนี้ โดยเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กระเตื้องขึ้น หลังภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานจากผลพวงของโรคโควิด-19 ระบาดเริ่มคลี่คลายและภาคบริการแข็งแกร่ง
IMF คาดว่า จีนและอินเดียอาจจะมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ขณะที่ประเทศที่เหลือในภูมิภาคเอเชียจะมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 โดยกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามต่างหวนคืนสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นเดียวกับช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาด
ประเทศที่ IMF ทำการปรับปรุงการคาดการณ์ที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่การคาดการณ์ครั้งสุดท้ายในเดือนต.ค. 2565 นั้น คือจีน เนื่องจากจีนประกาศเปิดประเทศแบบฉับพลัน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยมีการค้าและการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันอย่างแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงถือเป็นข่าวดีสำหรับภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากการค้าของภูมิภาคเอเชียครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
การวิเคราะห์ครั้งล่าสุดในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคสำหรับเอเชียแปซิฟิกของ IMF แสดงให้เห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจทุก ๆ 1% ในจีน จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เหลือในภูมิภาคเอเชียปรับตัวขึ้นประมาณ 0.3%
อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้นสดใสขึ้น แต่ปัญหาระยะยาวที่สำคัญยังคงอยู่ โดย IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจระยะกลางสำหรับจีน เนื่องจากคาดว่าภาวะชะลอตัวในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าของจีนจะถ่วงทิศทางการเติบโตของห่วงโซ่อุปทานทั่วทั้งเอเชียและทั่วโลก ทำให้การปฏิรูปเพื่อส่งเสริมกำลังการผลิตและการเติบโตระยะยาวเป็นเรื่องเร่งด่วนมากยิ่งขึ้นสำหรับทั่วภูมิภาคเอเชีย