ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.พ.โดยระบุว่า ความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออาจจะทำให้ RBA ดำเนินนโยบายการเงินที่คุมเข้มมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้คณะกรรมการ RBA ปฏิเสธแนวทางการยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า ในระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ.นั้น คณะกรรมการ RBA ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เนื่องจาก RBA จำเป็นต้องฉุดเงินเฟ้อให้ลดต่ำลงจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงเกินไป
อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดคณะกรรมการ RBA ได้ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ระดับ 3.35% โดยคณะกรรมการ RBA พิจารณาถึงความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้น
รายงานการประชุมระบุว่า เงินเฟ้อทั่วไปซึ่งนับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน (Headline Inflation) พุ่งขึ้น 7.8% ในไตรมาส 4/2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี โดย RBA ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 รวมกันทั้งสิ้น 3% เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น นอกจากนี้ ภาวะติดขัดของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกยังส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในออสเตรเลียสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการ RBA ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับทิศทางของเงินเฟ้อ เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลก และยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น