สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวโปรตุเกสนับพันคนออกมารวมตัวบนถนนในกรุงลิสบอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 ก.พ.) เพื่อเรียกร้องสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจนทำให้ประชาชนหาเลี้ยงชีพได้ยากขึ้น
รายงานระบุว่า โปรตุเกสเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรปตะวันตก โดยรัฐบาลโปรตุเกสเปิดเผยว่า แรงงานมากกว่า 50% มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ยูโร (1,054.60 ดอลลาร์) ต่อเดือนในปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำแตะ 760 ยูโรต่อเดือน
ขณะเดียวกัน ราคาบ้านในโปรตุเกสเพิ่มขึ้น 18.7% ในปี 2565 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ สอดคล้องกับค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์
ข้อมูลจากบริษัทประกันภัยซีไอเอ แลนด์ลอร์ดส อินชัวแรนซ์ (CIA Landlord Insurance) ระบุว่า ค่าจ้างที่ต่ำและค่าเช่าบ้านที่สูงทำให้กรุงลิสบอนกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่น้อยที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และอัตราเงินเฟ้อของโปรตุเกสที่ 8.3% ยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหา
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลโปรตุเกสได้ประกาศมาตรการที่เข้มงวดเพื่อจัดการกับวิกฤตที่อยู่อาศัย แต่กลุ่มผู้ประท้วงกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะไม่มีความหมายอะไร หากทางการยังคงส่งเสริมนโยบายอื่นๆ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่ร่ำรวยเข้ามาในประเทศ เช่น วีซ่าสำหรับดิจิทัล โนแมด (Digital Nomad) ที่เปิดตัวเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา