กระแสการแห่ถอนเงินเข้ามาเพิ่มปัญหาให้กับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากเดิมที่ต้องแก้ปัญหาหลายประการอยู่แล้ว ทั้งเงินเฟ้อ ความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นักลงทุนเผชิญปัจจัยที่สร้างความตื่นตระหนกมากมายตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สำหรับนักลงทุนแล้ว ปัญหาคือเมื่อปัจจัยเสี่ยงหนึ่งจบลง ก็พลันเกิดปัจจัยเสี่ยงใหม่ขึ้นอีก เดี๋ยวเศรษฐกิจสหรัฐก็ร้อนแรงเกินไป เดี๋ยวก็เสี่ยงที่จะถูกกดดันทางการเงิน วันหนึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็พุ่งทะยานขึ้น เนื่องจากวิตกกังวลว่า เงินเฟ้อสูงจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยแรง แต่วันต่อมากลับทรุดตัวลง เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย
"สัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงเวลาอันยากลำบาก สิ่งที่ตลาดหุ้นต้องการคือการไม่เกิดผลกระทบแบบเป็นวงกว้างและเฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย" นายจิม เบียนโกจากบริษัทเบียนโก รีเสิร์จกล่าว
ในสัปดาห์ที่เกิดกรณีซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ล้ม ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ธนาคารล้มครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษของสหรัฐและหุ้นร่วงหนักสุดในรอบ 5 เดือน เหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนที่สุดคือ การที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงครั้งใหญ่ ที่สุดในรอบสองวันนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551
นอกเหนือไปจากผลกระทบที่มีต่อนักเก็งกำไรแล้ว ภาวะผันผวนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ผ่านมาส่งสัญญาณที่น่าวิตกกังวลต่อภูมิทัศน์สินทรัพย์ทุกประเภทและเศรษฐกิจสหรัฐ โดยบีสโปก อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป (Bespoke Investment Group) ระบุว่า ในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐสัญญา 2 ปีเคยปรับตัวลดลงในรอบสองวันที่ 0.45% ทั้งหมด 79 ครั้ง โดยเกือบทุกครั้งจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐในช่วง 6 เดือน ยกเว้นเพียงปี 2530 และ 2532
ด้านนักลงทุนแห่เทขายหุ้นโดยไม่รอให้ทราบแน่ชัดว่า สุดท้ายแล้วการที่ธุรกิจ SVB ล้มนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินหรือไม่ โดยดัชนี S&P500 ร่วงลง 4.6% ในช่วง 5 รอบการซื้อขาย ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. โดยหุ้นกลุ่มบริษัทการเงินบนกระดาน S&P500 ทรุดลงถึง 8.5%