ทางการสหรัฐประกาศปิดกิจการซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันความเสี่ยงในระบบธนาคาร
กระทรวงการคลังสหรัฐ พร้อมด้วยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า "เราได้ตัดสินใจปิดกิจการซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์ก เนื่องจากมีความกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงในเชิงระบบ และเราขอยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินเอาไว้กับซิกเนเจอร์ แบงก์ สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวน"
ซิกเนเจอร์ แบงก์ เป็นหนึ่งในธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี โดยราคาหุ้นของซิกเนเจอร์ แบงก์ ร่วงลงเกือบ 40% ในปีนี้ หลังจากซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) ซึ่งเป็นธนาคารคู่แข่ง ได้ประกาศยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) เพื่อชำระหนี้
ข้อมูลที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐระบุว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ซิกเนเจอร์ แบงก์ มีสินทรัพย์โดยรวมมูลค่า 1.104 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากทั้งสิ้น 8.86 หมื่นล้านดอลลาร์
การสั่งปิดกิจการซิกเนเจอร์ แบงก์ มีขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากกระทรวงปกป้องการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา
รายงานล่าสุดระบุว่า เฟดประกาศจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB โดยโครงการดังกล่าวจะเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์, สถาบันรับฝากเงิน, เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ