ผู้เชี่ยวชาญเตือนสหรัฐค้ำประกันเงินฝาก SVB อาจเปิดช่องทุจริตให้นลท.ไร้ศีลธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 13, 2023 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจเตือนว่า การที่รัฐบาลสหรัฐเข้าแทรกแซงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ด้วยการยื่นมือเข้ามาคุ้มครองเงินฝากใน SVB นั้น อาจกลายเป็นการสนับสนุนนักลงทุนบางกลุ่มที่ไร้ศีลธรรม

นายบิล แอคแมน มหาเศรษฐีนักลงทุนและผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Pershing Square ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นจะเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์คนต่อไปนั้น กล่าวว่า หากรัฐบาลสหรัฐไม่เข้าแทรกแซงผลกระทบจาก SVB ในครั้งนี้ ก็อาจจะส่งผลให้กิดวิกฤตการณ์ "แห่ถอนเงิน" หรือ "bank run" เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 และจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

"อย่างไรก็ดี แม้ว่าการคุ้มครองเงินฝากจะช่วยให้ประชาชนที่ฝากเงินกับธนาคารเหล่านี้ไม่ต้องสูญเสียเงิน แต่ก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) หรือภาวะที่มีความเสี่ยงสูงอันเนื่องมาจากการกระทำอันไม่สุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์" นายแอคแมนกล่าว

ทางด้านนายนิโคลัส เวรอน นักวิเคราะห์จากสถาบัน Peterson Institute for International Economics แสดงความเห็นว่า "การเข้าแทรกแซงวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ แต่ก็มีแนวโน้มว่า ต้นทุนจากการดำเนินการเหล่านี้อาจจะถูกส่งผ่านไปให้กับทุกคนที่ใช้บริการด้านการธนาคาร"

รัฐบาลสหรัฐประกาศปิดกิจการของ SVB ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และต่อมาสหรัฐได้สั่งปิดกิจการซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันความเสี่ยงในระบบธนาคาร

ล่าสุดในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย กระทรวงการคลังสหรัฐ พร้อมด้วยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคาร SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งถูกสั่งปิดไปแล้วนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวน โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป

นอกจากนี้ เฟดจะจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" โดยจะเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์, สถาบันรับฝากเงิน, เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ โดยสถาบันการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินกู้จากโครงการดังกล่าวนั้น จะถูกขอให้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ