นายชูนิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (15 มี.ค.) ว่า ภาคการธนาคารของญี่ปุ่นจะไม่เผชิญเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) เนื่องจากโครงสร้างด้านการฝากเงินของธนาคารมีความแตกต่างกัน
นายซูซูกิกล่าวในการประชุมรัฐสภาว่า "ระบบการเงินโดยรวมของญี่ปุ่นยังคงมีเสถียรภาพ" เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ มีเงินทุนสำรองเพียงพอต่อการรับมือความเสี่ยง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หุ้นกลุ่มธนาคารของญี่ปุ่นร่วงลงมากที่สุด นับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการล่มสลายของธนาคาร SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank)
ทั้งนี้ การขาดทุนในพอร์ตตราสารหนี้ของ SVB ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันของการถือครองพันธบัตรจำนวนมหาศาลของบรรดาธนาคารญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญภาวะขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealised loss) ถึงกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์
นายซูซูกิ ระบุว่า "สำหรับในขณะนี้ โอกาสที่ภาคธนาคารญี่ปุ่นจะเผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกับการล่มสลายของ SVB นั้นต่ำมาก" พร้อมกล่าวเสริมว่า แม้ธนาคารญี่ปุ่นเผชิญภาวะขาดทุนจากพอร์ตตราสารหนี้ แต่ส่วนใหญ่ได้รับการชดเชยจากกำไรจากการถือพอร์ตหุ้น
นอกจากนี้ นายซูซูกิระบุด้วยว่า ธนาคารญี่ปุ่นมีโอกาสเผชิญปัญหาการแห่ถอนเงินต่ำ เนื่องจากเงินฝากส่วนใหญ่เป็นเงินฝากก้อนเล็กสำหรับบุคคล ซึ่งแตกต่างจาก SVB ที่ลูกค้ามักเป็นผู้ฝากเงินก้อนโต ส่งผลให้ประสบปัญหาหนักเมื่อเกิดภาวะแห่ถอนเงิน