นักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยเร็วขึ้น เหตุธนาคารชะลอปล่อยสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 16, 2023 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวลง, ราคาน้ำมันและราคาหุ้นที่ทรุดตัวอย่างรุนแรง ตลอดจนภาวะผันผวนที่พุ่งขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนกำลังหวั่นวิตกว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะถดถอยในเวลาอันใกล้นี้

ราคาหุ้นได้ทรุดตัวลงเมื่อวันพุธ (15 มี.ค.) เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสถานะการเงินของเครดิต สวิสได้สร้างความตื่นตระหนกในตลาดการเงินที่วิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตธนาคารของสหรัฐอยู่แล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ล้มแบบกะทันหัน

"สิ่งที่คุณกำลังเผชิญคือภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น ทำให้นักลงทุนมองว่ากรณีดังกล่าวนั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งก็คิดถูกแล้ว" นายคิม แครอน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาคฝ่ายตราสารหนี้ระดับโลกของบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ อินเวสต์เมนต์ เมเนจเมนต์ระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า "ราคาหุ้นปรับตัวลง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลง ผมคิดว่า คำถามคือ เป็นไปได้ไหมที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง คำตอบคือ คุณตัดความเป็นไปได้นี้ออกไปไม่ได้"

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดช่วงลบ และราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในการซื้อขายภาคบ่ายเมื่อวานนี้ หลังมีรายงานว่า ทางการสวิตเซอร์แลนด์กำลังหารือเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับเครดิต สวิส

ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วในตลาดเงิน หลังธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐล้ม ทำให้ขณะนี้นักกลยุทธ์บางรายคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จากสมมุติฐานว่าธนาคารจะปล่อยสินเชื่อน้อยลง

"จากการประมาณการคร่าว ๆ คือ การเติบโตแบบชะลอตัวลงของการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารขนาดกลางนั้นจะฉุดตัวเลข GDP สหรัฐประมาณ 0.50%- 1.00% ในปีหน้าหรือสองปีข้างหน้า" นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนระบุเมื่อวานนี้ พร้อมกล่าวเสริมว่า "เราเชื่อว่านี่ค่อนข้างสอดคล้องกับมุมมองของเราที่ว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในช่วงต่อไปของปีนี้"

ที่ผ่านมาเฟดพยายามชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 6% ในเดือนก.พ. ซึ่งยังถือเป็นตัวเลขที่ร้อนแรง

แต่ปัญหาในภาคธนาคารทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่า ความน่าเชื่อถือที่ลดลงจะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐ และการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมของเฟดจะเร่งให้เศรษฐกิจสหรัฐทรุดตัวลง

ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ (16 มี.ค.) โดยก่อนหน้านี้คาดการณ์กันว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% แต่ขณะนี้นักกลยุทธ์คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่านั้น

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนยังคงคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธหน้าและในเดือนพ.ค.

"เราคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เนื่องจากหากระงับการขึ้นดอกเบี้ยทันทีจะเป็นการส่งสัญญาณแบบผิด ๆ เกี่ยวกับความจริงจังในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของเฟด ทั้งยังจะส่งสัญญาณผิด ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงิน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดลังเลใจที่จะคุมเข้มด้านการเงิน หรือรีบเร่งผ่อนคลายการเงิน เพราะวิตกกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน"

ด้านนายมาร์ก ซานดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อะนาลีติกส์คาดการณ์ว่า เฟดจะระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า พร้อมส่งสัญญาณยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที

ขณะเดียวกัน นายซานดียังคาดการณ์ว่า สหรัฐจะไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยคิดว่าสหรัฐจะก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากไปได้อย่างราบรื่น

"ผมคิดว่าประชาชนไม่ควรประเมินต่ำเกินไปเกี่ยวกับผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านจะลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย" นายซานดีกล่าว อย่างไรก็ตาม นายซานดีไม่คิดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เนื่องจากการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่สิ้นสุด

นายซานดีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 1%-2% ในไตรมาสแรกของปีนี้ "แต่ในช่วง 2 ไตรมาสหลังจากนั้นจะเติบโต 0%-1% โดยเป็นไปได้ที่อาจเผชิญภาวะหดตัวในไตรมาสใดไตรมาสหนึ่ง"

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 ของสหรัฐเมื่อวานนี้ โดยปรับลดลง 0.3% สู่ระดับ 1.2% เนื่องจากคาดการณ์ว่า ธนาคารขนาดเล็กและกลางจะชะลอการปล่อยสินเชื่อ และเกิดภาวะปั่นป่วนในระบบการเงินแบบเป็นวงกว้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ