สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า ความระส่ำระสายในตลาดการเงินโลกในระยะหลังนี้ส่งผลกระทบต่อธนาคารในญี่ปุ่นมากกว่าจีน โดยธนาคารชั้นนำ 3 แห่งของญี่ปุ่นสูญเสียมูลค่าตลาดกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ 4 แห่งของจีนมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ในสหรัฐเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์ธนาคาร ซึ่งในที่สุดทำให้ธนาคารยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ในราคา 3.2 พันล้านดอลลาร์ ก่อนเปิดตลาดเอเชียในวันนี้
นิกเกอิ เอเชีย คำนวณว่าโดยรวมแล้ว ธนาคารชั้นนำของเอเชีย 40 แห่งใน 11 ตลาดสูญเสียมูลค่าไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยธนาคารสามอันดับแรกของญี่ปุ่น ได้แก่ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ราคาหุ้นร่วงไปประมาณ 10-12% และสูญเสียมูลค่าตลาด 2.67 ล้านล้านเยน (2.027 หมื่นล้านดอลลาร์)
ธนาคารในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบหนักเพราะธนาคารเหล่านี้ได้ซื้อพันธบัตรไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดวิกฤตการเงินจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้พันธบัตรเหล่านี้มีมูลค่าลดลง ส่วนสาเหตุที่ธนาคารในญี่ปุ่นถือพันธบัตรมากก็เนื่องจากญี่ปุ่นแทบไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมานานหลายทศวรรษ ทำให้โอกาสในการปล่อยสินเชื่อลดลง และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แก้ปัญหาด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องแทน
ในทางกลับกัน ธนาคารจีนกลับมีการปล่อยสินเชื่อมากกว่าเนื่องจากได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการถือครองพันธบัตรด้วย แต่ธนาคารจีนก็ได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ลดลง ทำให้ไม่โดนผลกระทบหนักแบบญี่ปุ่น โดยธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ 4 แห่งของจีน ได้แก่ ธนาคารไอซีบีซี (ICBC), แบงก์ออฟไชน่า (BOC), ธนาคารไชน่า คอนสตรักชัน (CCB) และธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน (ABC) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5% มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา