ที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน (PBOC) แนะนำให้ทางการจีนออกมาตรการสนับสนุนภาคครัวเรือน ด้วยการอัดฉีดเงินให้กับภาคครัวเรือนโดยตรงมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นทางเลือกหนึ่งในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค หลังจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากค่าจ้างที่ปรับตัวลดลงในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
นายไฉ ฟาง หนึ่งในกรรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ PBOC กล่าวว่า "ทางการจีนควรใช้มาตรการระยะสั้นในการกระตุ้นการเติบโตของค่าจ้าง และหนึ่งในแนวทางดังกล่าวคือการอัดฉีดเงินโดยตรงให้กับภาคครัวเรือนมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน"
นายไฉกล่าวในการประชุมที่จัดโดยนิตยสารการเงิน ไฉจิง (Caijing) ว่า "รายได้ของชาวจีนนั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการฟื้นตัวของการบริโภคจึงไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ" และนอกจากนี้ เขายังเสนอใช้ระบบประกันสังคมของจีนเพื่อกระตุ้นการบริโภคให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ให้รายละเอียดก็ตาม
ทั้งนี้ การกระตุ้นภาคครัวเรือนกำลังเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน หลังจากเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมประชุมครั้งสำคัญในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาได้แนะนำว่ารัฐบาลควรหลีกเลี่ยงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหมายความว่า การกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะถูกผลักดันให้เป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนในปีนี้
แม้ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของยอดค้าปลีกและการใช้จ่ายด้านบริการของจีนในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางรายยังตั้งคำถามถึงความแข็งแกร่งด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีน โดยบลูมเบิร์ก อิโคโนมิกส์ระบุว่า ในช่วงที่จีนเผชิญกับโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักนั้น ภาคครัวเรือนจีนไม่ได้เก็บออมเงินสดไว้มากนักตามที่ผู้เชี่ยวชาญของจีนประมาณการไว้