สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า กลุ่มนักลงทุนในทวีปเอเชียกำลังเตรียมยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ จากกรณีการตัดมูลค่าของตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 มูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ของธนาคารเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส ขณะที่ หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบในเอเชียพยายามเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าอาจเกิดวิกฤตลักษณะเดียวกันนี้ในเอเชีย
ทั้งนี้ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดทั่วโลกในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ด้วยการผลักดันการขายกิจการเครดิต สวิสให้กับยูบีเอส ซึ่งจะจ่ายเงินผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 3.25 พันล้านดอลลาร์ แต่กลับตัดมูลค่า AT1 เหลือศูนย์
AT1 นั้นเป็นเครื่องมือการลงทุนยอดนิยมในทวีปเอเชีย เนื่องจากเสนออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป โดยผู้ออก AT1 ส่วนใหญ่ล้วนเป็นธนาคารยุโรปที่มีชื่อเสียงและอันดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง ทำให้เป็นหลักทรัพย์ที่น่าดึงดูดใจท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์กันว่านักลงทุนฮ่องกงและสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ AT1 เครดิต สวิสรายใหญ่
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทกฎหมายในฮ่องกงและสิงคโปร์ได้รับการติดต่อสอบถามจากนักลงทุนจำนวนมาก เช่น กองทุนเฮดจ์ฟันด์ เพื่อดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ โดยควินน์ เอมานูเอล เออร์คูฮาร์ต แอนด์ ซัลลิแวน บริษัทกฎหมายจากสหรัฐ ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิสจากเอเชียเมื่อวันพุธที่ 22 มี.ค. เพื่อฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยจากภาวะขาดทุน
"นักลงทุนสะเทือนใจกันมาก โดยพวกเขาไม่อาจยอมรับผลลัพธ์นี้ได้" ทนายความรายหนึ่งของฮ่องกงระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า "จำนวนผู้เสียหายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ"
การตัดสินใจของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้สั่นคลอนตลาดหุ้นกู้ AT1 แบบเป็นวงกว้างทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยนายเจสัน เบรดี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทธอร์นเบิร์ก อินเวสต์เมนต์ เมเนจเมนต์ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ว่า นักลงทุนจะไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่มีต่อ AT1 ได้ง่าย ๆ
"ผมไม่คิดว่าการที่ภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนนั้นจะช่วยคลี่คลายความวิตกกังวลได้" นายเบรดี้กล่าว เมื่อถูกถามว่า นักลงทุนจะมองว่า หุ้นกู้ AT1 ในเอเชียเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือไม่ หากรัฐบาลยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุน