หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของเทเทอร์ บริษัทคริปโทเคอร์เรนซีคาดการณ์ว่า บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ 700 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปี ทำให้ทุนสำรองส่วนเกินโดยรวมของบริษัทพุ่งขึ้นเกิน 1 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เทเทอร์เป็นผู้ออกสเตเบิลคอยน์ยูเอสดีที (USDT) ซึ่งตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดย USDT ได้รับการรองรับจากสินทรัพย์ในโลกจริง เช่น สกุลเงินและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ดังนั้นจึงสามารถแลกได้ในอัตรา 1:1 กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเสมอ
อนึ่ง สเตเบิลคอยน์ คือสินทรัพย์ที่นักลงทุนสามารถโยกย้ายไปยังคริปโทเคอร์เรนซีสกุลต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องแปลงเป็นสกุลเงินสด
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บรรดาผู้ออกสเตเบิลคอยน์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความโปร่งใสไม่เพียงพอเกี่ยวกับข้อมูลสินทรัพย์ที่ผู้ออกสเตเบิลคอยน์เหล่านั้นถือครองอยู่ในฐานะทุนสำรองในการรองรับสกุลเงินดิจิทัลของพวกเขา ขณะที่เทเทอร์ถือครองตราสารพาณิชย์ (commercial paper) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นไม่มีหลักประกันที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เทเทอร์ไม่ได้เปิดเผยประเภทองค์กรหรือตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของบริษัทเหล่านั้น
คอยน์มาร์เก็ตแคป (CoinMarketCap) ระบุว่า มูลค่าของสเตเบิลคอยน์ USDT ทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนนี้จาก 7.098 หมื่นล้านดอลลาร์ ในวันที่ 1 มี.ค. สู่ระดับ 7.814 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อวานนี้ (23 มี.ค.)
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นดังกล่าวในเดือนนี้ ได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) โดยเซอร์เคิล บริษัทคู่แข่งซึ่งออกสเตเบิลคอยน์ยูเอสดีซี (USDC) เปิดเผยว่า มีเงินฝากอยู่กับ SVB ทั้งสิ้น 3.3 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ USDC สูญเสียการตรึงมูลค่าตามสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของเหรียญดังกล่าวและหันมาให้ความสนใจกับเทเทอร์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อรับประกันผู้ฝากเงินทั้งหมด ทำให้มูลค่าของ USDC ก็ได้ฟื้นกลับมาเทียบเท่ากับดอลลาร์อีกครั้ง