นักลงทุนบางรายให้เครดิตรัฐบาลจีนที่ช่วยพยุงราคาตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ที่ออกโดยกลุ่มธนาคารรายใหญ่ที่สุดของจีน หลังจากเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในภาคธนาคารทั่วโลก
ทั้งนี้ ราคา AT1 ทรุดตัวลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ตัดหนี้สูญ AT1 ของเครดิต สวิส มูลค่า 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ตามข้อตกลงซื้อกิจการเครดิต สวิสของยูบีเอส (UBS)
ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุด 4 แห่งในจีน ได้แก่ อินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (Industrial and Commercial Bank of China : ICBC), แบงก์ ออฟ ไชน่า (Bank of China), อะกริคัลเจอร์ แบงก์ ออฟ ไชน่า (Agricultural Bank of China) และไชน่า คอนสตรักชั่น แบงก์ (China Construction Bank) เป็นผู้ออก AT1 รายใหญ่ แต่สถานการณ์ด้านราคา AT1 ของธนาคารกลุ่มนี้ดีกว่า AT1 ที่ออกโดยธนาคารยุโรป เช่น HSBC และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในช่วงที่เกิดภาวะปั่นป่วนในช่วงนี้
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มี.ค. ซึ่งเป็นวันซื้อขายวันแรกหลังยูบีเอสตกลงซื้อกิจการเครดิต สวิส ราคา AT1 ในสกุลดอลลาร์ที่ออกโดย HSBC และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดลดลง 8.98% และ 6.61% ตามลำดับ ขณะที่ AT1 ที่ออกโดย ICBC ขยับลงเพียง 1.45%
ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 23 มี.ค. ราคา AT1 ของ ICBC ปรับตัวขึ้นสูงกว่าช่วงที่ยูบีเอสตกลงซื้อกิจการเครดิต สวิส ขณะที่ ราคา AT1 ของ HSBC และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคงปรับตัวลดลง 2.99% และ 3.54% ตามลำดับ
กลุ่มธนาคารทั่วโลก เช่น เจพี มอร์แกน เชน, มอร์แกน สแตนลีย์ และ HSBC ชี้ว่า การสนับสนุนสถาบันการเงินรายใหญ่ของภาครัฐเป็นสาเหตุที่ทำให้ AT1 ที่ออกโดยธนาคารเหล่านี้ทำผลงานได้ดีกว่า AT1 ที่ออกโดยธนาคารในยุโรป ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า ภาวะแห่ถอนเงินฝากอาจทำให้ธนาคารล้มแบบเป็นโดมิโน่
รีฟินิทิฟ (Refinitiv) ระบุว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 4 แห่งของจีนออก AT1 ทั้งหมด 27 รุ่น โดยคิดเป็นเงินมูลค่า 9.79 แสนล้านหยวน (1.423 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ โกลด์แมน แซคส์ระบุเมื่อวันพุธที่ 22 มี.ค.ว่า AT1 สกุลเงินดอลลาร์ที่ออกโดยธนาคารของจีนแผ่นดินใหญ่นั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 41% ของ AT1 สกุลเงินดอลลาร์มูลค่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ไหลเวียนอยู่ในทวีปเอเชีย ขณะที่ฮ่องกงคิดเป็น 38% ส่วนไทยนั้นคิดเป็น 4%