ภาวะปั่นป่วนในภาคธนาคารในช่วงนี้ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า โลกอาจประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินที่มีลักษณะคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 แต่นักวิเคราะห์มองว่า วิกฤตธนาคารในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากเมื่อ 15 ปีอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากขณะนี้เรามีโซเชียลมีเดีย ธนาคารออนไลน์ และการกำกับดูแลกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล
นายพอล โดโนแวน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทยูบีเอส โกลบอล เวลธ์ เมเนจเมนต์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีในเดือนนี้โดยระบุว่า นี่คือ "วิกฤตธนาคารครั้งแรกของยุคทวิตเตอร์" โดยเขาอ้างอิงถึงการล้มลงของธนาคารเครดิต สวิส
หุ้นเครดิต สวิสปรับตัวลดลงเมื่อวันอังคารที่ 14 มี.ค. หลังมีการตรวจพบ "จุดอ่อนสำคัญ" ในการรายงานสถานะการเงิน ส่งผลให้เครดิต สวิสเผชิญภาวะปั่นป่วนต่อเนื่อง 5 วัน จนนำไปสู่การเข้าซื้อกิจการเครดิต สวิสของธนาคารยูบีเอส
"โซเชียลมีเดียทำให้ชื่อเสียงภาพลักษณ์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมคิดว่ากรณีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้" นายโดโนแวนกล่าว
นายจอน แดเนียลสัน ผู้อำนวยการศูนย์ความเสี่ยงเชิงระบบของสถาบันเศรษฐศาสตร์ลอนดอนกล่าวว่า โซเชียลมีเดียทำให้ข่าวลือแพร่หลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2551
"การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย รวมถึงธนาคารดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบการเงินมีความเปราะบางมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต" นายแดเนียลสันกล่าว
โซเชียลมีเดียไม่เพียงทำให้ข่าวลือแพร่กระจายง่ายยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายรวดเร็วขึ้นมากอีกด้วย
"โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถพลิกสถานการณ์" นางเจน เฟรเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิตี้กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
"การเผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์เพียง 2 ข้อความก็สามารถทำให้ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ล้มได้ในเวลาอันรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์"
อนึ่ง หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบสหรัฐสั่งปิด SVB ในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ธนาคารสหรัฐล้มครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551