ธนาคารกลางมาเลเซียเปิดเผยในรายงานเศรษฐกิจและการเงินในวันนี้ (29 มี.ค.) ว่า ธนาคารคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวระหว่าง 4.0 - 5.0% ในปี 2566 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลก และความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
"สำหรับมาเลเซีย การเติบโตจะอยู่ในระดับปานกลางในปี 2566 จากการเติบโต 8.7% ในปี 2565 เศรษฐกิจจะยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยภายนอก"
ธนาคารกลางมาเลเซียมองว่าความเสี่ยงในการคาดการณ์การเติบโตของมาเลเซียนั้นค่อนข้างมีความสมดุล เนื่องจากความเสี่ยงในแง่ลบส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก อาทิเช่น การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และความตึงเครียดทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกดดันต่อกิจกรรมทางการค้าของมาเลเซีย
สำหรับปัจจัยภายในนั้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินกว่าที่คาดไว้ อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ส่วนต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรของภาคธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานที่มีสภาวะดีขึ้น กิจกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งขึ้น และการดำเนินโครงการของรัฐบาลอาจจะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ
ธนาคารกลางมาเลเซียคาดการณ์ด้วยว่า ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 2.8 - 3.8% ในปี 2566 เทียบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2565 ที่ 3.3%