นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้ปฏิเสธข้อเสนอการปรับเพิ่มเงินทุนของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในระยะเวลาอันใกล้นี้ พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า นายเอเจย์ บังกา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยสหรัฐนั้น จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกคนใหม่ เนื่องจากไม่มีประเทศใดเสนอชื่อผู้ท้าชิงและขณะนี้ระยะเวลาการเสนอชื่อได้สิ้นสุดลงแล้ว
นางเยลเลนได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการจัดสรรงบประมาณแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันพุธ (29 มี.ค.) ว่า เธอต้องการให้ธนาคารโลกดำเนินการปฏิรูปเพื่อเพิ่มการปล่อยกู้สำหรับการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนและวิกฤตการณ์อื่น ๆ ทั่วโลก โดยใช้ทรัพยากรที่ธนาคารโลกมีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้นโยบายระดมเงินทุนรูปแบบใหม่ ๆ และระดมเงินทุนจากภาคเอกชน
ทั้งนี้ การเพิ่มเงินทุนเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นในเดือนม.ค.ปีนี้ แต่ข้อเสนอดังกล่าวอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของธนาคารโลก
"เราไม่ได้ขอให้เพิ่มเงินทุน เราเพียงแต่ต้องการที่จะเห็นการระดมทรัพยากรจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลงทุนของธนาคารโลก ดิฉันยืนยันว่า เราไม่ได้ร้องขอให้มีการเพิ่มเงินทุนในเวลานี้" นางเยลเลนกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อเสนอให้มีการเพิ่มเงินทุนเกิดขึ้น หลังจากธนาคารโลกเปิดเผยโรดแมปที่สอดคล้องกับแผนการของนางเยลเลนซึ่งนำเสนอเมื่อปีที่แล้วว่า ควรจะมีการขยายขอบข่ายการปล่อยเงินกู้ที่เคยกระจุกตัวอยู่ในโครงการพัฒนาที่เจาะจงเป็นรายประเทศ ไปเป็นการปล่อยเงินกู้ให้ครอบคลุมถึงโครงการที่จะต่อสู้กับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่การเพิ่มเงินทุนนั้น สหรัฐจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อให้สหรัฐเองสามารถรั้งสถานะประเทศผู้ทรงอิทธิพลในธนาคารโลก ซึ่งแนวทางดังกล่าวขัดแย้งกับความต้องการของสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ต้องการให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายเพื่อแลกกับการโหวตให้มีการเพิ่มเพดานหนี้ในสภาคองเกรส
การปรับเพิ่มฐานเงินทุนครั้งหลังสุดของธนาคารโลกเกิดขึ้นในปี 2561 หลังจากประเทศสมาชิกอนุมัติการเพิ่มเงินทุนจำนวน 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ความสามารถในการปล่อยกู้ของธนาคารโลกได้ถูกจำกัด อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน