จีนจะเป็นจุดสดใสเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ หลังจากธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลิตภาพ (Productivity) ที่ทรุดตัวลง
ทั้งนี้ ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับล่าสุดในวันนี้ (31 มี.ค.) โดยเตือนเรื่องผลิตภาพที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แข่งขันกันชิงตำแหน่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค หลังจากการที่สหรัฐพยายามเลิกพึ่งพาการผลิตในจีนนั้นได้เปลี่ยนแปลงภาวะห่วงโซ่อุปทานโลก โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะชะลอลงอีกในทศวรรษนี้โดยอาจแตะระดับต่ำสุดถึง 4.7%
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 5.1% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.6% จากตัวเลขคาดการณ์ที่เผยแพร่ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งไม่นับรวมจีน มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงแตะ 4.9% ในปีนี้ ซึ่งลดลง 0.9% จากปี 2565
ส่วน 4 ใน 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีแนวโน้มชะลอการขยายตัวในปีนี้ โดยมีเพียงมาเลเซียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงอย่างมากจาก 4.1% ในการคาดการณ์เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา สู่ระดับ 3.6% ในการคาดการณ์ครั้งล่าสุด ส่วนเวียดนามถูกหั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 6.7% ในการคาดการณ์เมื่อเดือนต.ค. สู่ 6.3% ในการคาดการณ์ครั้งล่าสุด
ธนาคารโลกระบุว่า การที่จีนกลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมากขึ้นสำหรับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะช่วยชดเชยความสูญเสียที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยหลายประเทศในภูมิภาคเชื่อมโยงกันด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ซึ่งธนาคารโลกมองว่ามีความสำคัญในทางเศรษฐกิจมากกว่าข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership - CPTPP) ซึ่งต่อยอดมาจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ผลผลิตในจีนและเวียดนามสูงกว่าช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดถึง 15% แต่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ยังไล่ตามไม่ทัน เช่น ไทย เมียนมา และหมู่เกาะแปซิฟิกส่วนใหญ่ โดยธนาคารโลกเตือนว่า มูลค่าการผลิตที่ลดลงจะบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากไม่มีการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงภาคบริการ รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุน