"เยลเลน" ชี้มาตรการคุมภาคธนาคารสหรัฐหย่อนยานเกินไป แนะประเมินกฎเกณฑ์ใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 31, 2023 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐในวันพฤหัสบดี (30 มี.ค.) ว่า กฎระเบียบด้านการควบคุมและกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐจำเป็นต้องได้รับการประเมินใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะสามารถป้องกันความเสี่ยงในระบบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ หลังจากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB)

ทั้งนี้ นางเยลเลนได้เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลภาคธนาคารเงา (shadow bank) หรือธุรกิจการเงินที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปธนาคารให้มีความเข้มงวดมากขึ้น พร้อมกับกล่าวว่า ควรมีการทบทวนข้อกำหนดด้านเงินทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2561 อีกครั้ง โดยเฉพาะสำหรับธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์

"เมื่อใดก็ตามที่มีธนาคารล้มละลาย ก็จะส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมาก ดิฉันมองว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อกำหนดด้านการกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐมีความหย่อนยานมากเกินไป และดิฉันว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่เราจะประเมินผลกระทบของการตัดสินใจผ่อนคลายกฎระเบียบเหล่านี้ และหันมาใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อตอบสนองวิกฤตการณ์" นางเยลเลนกล่าว

"การปฏิรูปกฎระเบียบภาคธนาคารถูกนำมาใช้หลังจากเกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 ซึ่งช่วยให้ระบบการเงินของสหรัฐสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การล้มละลายของธนาคาร SVB และ SB ในเดือนนี้แสดงให้เห็นว่าภารกิจของเรายังไม่จบ แม้ว่าระบบการเงินของเราจะมีความแข็งแกร่งมากกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้วก็ตาม" นางเยลเลนกล่าว

การแสดงความเห็นของนางเยลเลนมีขึ้น ในขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐพยายามผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับธนาคารขนาดกลาง โดยระบุว่าอาจมีการผลักดันกฎระเบียบดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้โดยไม่ต้องผ่านการสนับสนุนจากสภาคองเกรส

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวกล่าวว่า กฎระเบียบใหม่นี้ครอบคลุมถึงการกำหนดให้ธนาคารที่มีสินทรัพย์ 1-2.50 แสนล้านดอลลาร์ ต้องเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง, เพิ่มเงินทุน, เข้ารับการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) และเปิดเผยแผนการ (Living Will) ซึ่งจะระบุรายละเอียดว่า ธนาคารจะปิดกิจการได้อย่างไรหากจำเป็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ