กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจรายไตรมาสที่จัดทำโดยศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ หรือ JCER และสำนักข่าวนิกเกอิ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยและมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวและการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ของจีน
แต่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เน้นย้ำว่า ผลกระทบจากปัญหาของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ เช่น ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ถือเป็นข้อกังวลใหม่สำหรับเอเชีย หลังจากที่เผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อทั่วโลกและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ อยู่แล้ว
JCER และนิกเกอิจัดทำผลสำรวจเรื่องเศรษฐกิจเอเชียระหว่างวันที่ 3 ? 24 มี.ค. โดยได้รับคำตอบจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 24 รายจาก 5 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย รวมถึงอินเดีย
โดยรวมแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 มีแนวโน้มที่จะเติบโตชะลอตัวกว่าเมื่อปี 2565 โดยในเวลานั้นเศรษฐกิจของเอเชียฟื้นตัวขึ้นจากภาวะตกต่ำในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจฉบับล่าสุดนี้ได้เพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญในอาเซียน โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 4.4% ในปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์เอาไว้ที่การเติบโต 4.3% ส่วนอินเดียมีแนวโน้มเติบโต 6.0% จากที่ก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์เอาไว้ที่การเติบโต 5.6%
JCER ระบุในรายงานว่า การเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งนี้ "ส่งสัญญาณว่ามุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจเอเชียนั้นกระเตื้องขึ้นในปี 2566 ขณะเดียวกันการคาดการณ์สำหรับการส่งออกสินค้าและบริการไปจีนก็เพิ่มสูงขึ้น หลังจากจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในเดือนธ.ค. 2565 ควบคู่ไปกับอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นจากการยกเลิกมาตรการจำกัดโควิด-19 ในแต่ละประเทศ"
เมื่อเทียบเป็นรายประเทศ JCER ได้เพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับไทยในปีนี้สู่การขยายตัว 3.7% จากที่ก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์เอาไว้ที่การเติบโต 3.5%
ลลิตา เธียรประสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยมหภาคจากศูนย์วิจัยกสิกรระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.7% ในปี 2566 หลัก ๆ แล้วเป็นผลจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในภาคการท่องเที่ยว "เราคาดการณ์ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะพุ่งสู่กรอบ 24 ? 26 ล้านราย หรือคิดเป็น 60% - 65% ของตัวเลขปี 2562 เมื่อพิจารณาจากการที่จีนเปิดประเทศ"