ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ หลังปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว ลดลงสู่ระดับ 47.6 ในเดือนมี.ค.จากระดับ 48.5 ในเดือนก.พ.
ตัวเลขเดือนมี.ค.นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของเกาหลีใต้หดตัว
ยอดคำสั่งส่งออกเดือนมี.ค.ของเกาหลีใต้หดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. เนื่องจากอุปสงค์โลกชะลอตัวลง หลังเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะยากลำบากท่ามกลางการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องหลายเดือนของธนาคารกลางต่าง ๆ และผลกระทบจากสงครามในยูเครน
ผลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอลคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังเผชิญหนทางอีกยาวไกลกว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโรคโควิด-19 ระบาด
นายอุสมาห์ ภัตติ นักเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ระบุว่า "ตัวเลข PMI ภาคการผลิตในเดือนมี.ค.เป็นสัญญาณว่า ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว และหนทางสู่การหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าวนั้นยังคงอีกยาวไกล"
นอกจากนี้ ผลสำรวจฉบับดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของต้นทุนการผลิตเร่งตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยหลาย ๆ บริษัท ต่างอ้างถึง ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่อ่อนค่าลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของราคาผลผลิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน