นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า "พินตัวตัว" (Pinduoduo) แอปพลิเคชันชอปปิงยอดนิยมที่สุดแอปหนึ่งของจีนนั้น สามารถฝ่าระบบป้องกันความปลอดภัยบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วสอดแนมกิจกรรมบนแอปอื่น ๆ ตลอดจนตรวจสอบการแจ้งเตือน อ่านข้อความส่วนตัว และเปลี่ยนแปลงการตั้งค่า โดยแอปดังกล่าวขายสินค้าเกือบทุกประเภท ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีผู้ใช้งานกว่า 750 ล้านรายต่อเดือน
ขณะเดียวกัน นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เตือนด้วยว่า เมื่อติดตั้งแอปพินตัวตัวแล้วก็ยากที่จะลบมัลแวร์สอดแนมออกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้
แม้แอปจำนวนมากรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานกันเป็นปกติ โดยบางครั้งก็ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเตือนว่า พินตัวตัวนั้นละเมิดความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูลมากกว่าแอปทั่ว ๆ ไป
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้พูดคุยกับทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ประมาณ 6 ทีมจากเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ รวมถึงพนักงานทั้งในอดีตและปัจจุบันของพินตัวตัว โดยผู้เชี่ยวชาญหลายรายระบุว่ามีมัลแวร์อยู่บนแอปพินตัวตัว ซึ่งฉวยโอกาสจากความเปราะบางในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ขณะเดียวกันกลุ่มคนวงในระบุว่า มัลแวร์ดังกล่าวใช้ในการสอดแนมผู้ใช้งานและคู่แข่ง เพื่อกระตุ้นยอดขาย
"เราไม่เคยเห็นแอปขนาดใหญ่เช่นนี้พยายามเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ควรเข้าถึง โดยถือเป็นเรื่องผิดปกติเอามาก ๆ และไม่ดีต่อพินตัวตัวนัก" มิกโก ฮิปโพเนน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยบริษัทวิธซีเคียว (WithSecure) บริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์จากฟินแลนด์กล่าว
มัลแวร์นั้นอ้างอิงถึงซอฟต์แวร์ทุกชนิดที่พัฒนาขึ้นเพื่อขโมยข้อมูลหรือรุกล้ำระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยการเปิดเผยเรื่องมัลแวร์ในแอปพินตัวตัวมีขึ้นในช่วงที่สหรัฐตรวจสอบแอปติ๊กต๊อกอย่างเข้มงวด เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านข้อมูล
การเปิดเผยเรื่องนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้คนสนใจแอป "ทีมู่" (Temu) ซึ่งเป็นแอปที่ให้บริการนอกประเทศจีนและอยู่ในเครือเดียวกันกับแอปพินตัวตัว โดยแอปทีมู่เป็นแอปที่มีคนดาวน์โหลดมากเป็นอันดับต้น ๆ ในสหรัฐและขยายตัวอย่างรวดเร็วในตลาดอื่น ๆ แถบตะวันตก โดยแอปทั้งสองอยู่ในเครือบริษัท PDD Holdings ซึ่งจดทะเบียนในดัชนี Nasdaq ของสหรัฐ แต่เป็นบริษัทที่มีรากฐานอยู่ในจีน