กิจกรรมภาคการผลิตในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวลงในเดือนมี.ค. เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแรงลงนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการผลิต โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงซบเซา และทำให้ธนาคารกลางจับตาสถานการณ์ดังกล่าวอย่างระมัดระวัง
ไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (3 มี.ค.) ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของจีนอยู่ที่ระดับ 50 ลดลงจากระดับ 51.6 ในเดือนก.พ. เนื่องจากการผลิตชะลอตัวลงและอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแรงลง
ข้อมูลดังกล่าวของไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลออกมาสอดคล้องกับที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของจีนอยู่ที่ระดับ 51.9 ลดลงจากระดับ 52.6 ในเดือนก.พ. โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าความหวังที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นอาจลดน้อยลง ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแรงลง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังคงชะลอตัว
ทางด้านเกาหลีใต้นั้น เอสแอนด์พี โกลบอลระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ ลดลงสู่ระดับ 47.6 ในเดือนมี.ค.จากระดับ 48.5 ในเดือนก.พ. เนื่องจากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยบ่งชี้ว่า อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลงจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ ตัวเลข PMI เดือนมี.ค.ของเกาหลีใต้นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของเกาหลีใต้หดตัว
นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังเผชิญหนทางอีกยาวไกลกว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโรคโควิด-19 ระบาด
ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ในไตรมาส 1/2566 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 สู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 1 ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น ร่วงลงสู่ระดับ 1 จาก 7 ในไตรมาส 4/2565 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2563