ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ฉบับล่าสุดเดือนเม.ย. 2566 โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 5.1% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ในเดือนต.ค.ว่าจะขยายตัว 4.6% หลังจากที่ขยายตัว 3.5% ในปี 2565
หากไม่นับรวมจีน เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 4.9% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ในเดือนต.ค.ว่าจะขยายตัว 5.0% หลังจากขยายตัว 5.8% ในปี 2565
ส่วนกลุ่ม 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม มีแนวโน้มจะขยายตัว 4.9% จากที่เคยคาดการณ์ในเดือนต.ค.ว่าจะขยายตัว 5.1% หลังจากที่ขยายตัว 6.0% ในปี 2565
ด้านเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.6% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ในเดือนต.ค.ว่าจะขยายตัว 4.1% หลังจากที่ขยายตัว 2.6% ในปี 2565
ธนาคารโลกระบุว่า กิจกรรมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น ฟื้นตัวจากภาวะตื่นตระหนกเมื่อไม่นานมานี้แล้วและกำลังขยายตัว อย่างไรก็ตาม ผลผลิตในหลายประเทศยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด และบางประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมาย
การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะใกล้นั้นจะขึ้นอยู่กับพลวัตของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงการคุมเข้มทางการเงิน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐ
ขณะที่ในระยะยาวนั้น ธนาคารโลกมองว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกขยายตัวเร็วและมีเสถียรภาพมากกว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ส่งผลให้ความยากจนลดน้อยลง เช่นเดียวกับความไม่เสมอภาคที่ลดน้อยลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การเงินมหภาค และสภาพภูมิอากาศ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านผลิตภาพที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงและผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด แม้ว่ากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ๆ หลายประการ ตั้งแต่การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ