หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานในวันนี้ (21 เม.ย.) ว่า กลุ่มผู้ถือตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส ได้ยื่นฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ (Finma) หลังจาก Finma ได้ตัดมูลค่า AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์
กลุ่มผู้ถือ AT1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวระบุว่า การที่ Finma ได้ตัดมูลค่า AT1 ของเครดิต สวิสนั้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พร้อมกับมอบหมายให้บริษัทกฎหมาย Quinn Emanuel Urquhart & Sullivan ยื่นฟ้องต่อศาลในเมืองเซนต์กัลเลนของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 เม.ย.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา Finma ได้ตัดมูลค่า AT1 ของธนาคารเครดิต สวิสซึ่งมีมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ลงเหลือศูนย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส แต่การดำเนินการดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ถือ AT1 ซึ่งมองว่าพวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองที่ดีกว่าหลังจากที่ยูบีเอสเข้าเทกโอเวอร์กิจการเครดิต สวิส
ภายใต้ข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการนั้น ตราสาร AT1 ของเครดิต สวิสซึ่งระบุมูลค่าหน้าตั๋วไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส (1.735 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะถูกตัดมูลค่าลงเหลือศูนย์ นอกจากนี้ ข้อตกลงยังกำหนดว่า ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิส จะไม่มีสิทธิในการรับเงินชดเชย แต่ผู้ถือหุ้นสามัญกลับได้รับเงินชดเชย 3.23 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ถือหุ้นสามัญมักมีอันดับเป็นรองผู้ถือตราสารหนี้ในการได้รับเงินชดเชยในกรณีธนาคารล้มละลาย
โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างทุนของธนาคารพาณิชย์จะมีตราสาร AT1 ในอัตราส่วนสูงกว่าหุ้นสามัญ และหากธนาคารประสบปัญหา กลุ่มผู้ถือตราสารหนี้เหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่นักลงทุนต้องการเงินคืน แต่การที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ตัดมูลค่า AT1 ของเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์ ส่งผลให้กลุ่มผู้ถือ AT1 ได้รับความเสียหายอย่างมาก
ทั้งนี้ กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะต้องยึดตามโครงสร้างลำดับชั้นเกี่ยวกับเงินทุนในกรณีที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิสไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้