นักเศรษฐศาสตร์คาดโลกเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อสูง หลังวิกฤตเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 3, 2023 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า หลังจากธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เข้าช่วยเหลือธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นเวลานานจะยิ่งทำให้ภาคการธนาคารอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของธนาคารกลางในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

รายงานระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศการตัดสินใจนโยบายการเงินครั้งล่าสุดในวันนี้ (3 พ.ค.) ตามด้วยธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดี (4 พ.ค.)

ธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกมานานกว่า 1 ปีเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงเสียดฟ้า แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าแรงกดดันด้านราคาดูท่าจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกนาน

ผลสำรวจความคิดเห็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำทั่วโลก (Chief Economists Outlook) จากการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 พ.ค.) เน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นความกังวลหลัก โดยเกือบ 80% ของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ทำการสำรวจระบุว่า ธนาคารกลางจะเผชิญกับภาวะได้อย่างเสียอย่าง (Trade-off) ระหว่างการจัดการอัตราเงินเฟ้อกับการรักษาเสถียรภาพของภาคการเงิน ขณะที่บางส่วนคาดว่าธนาคารกลางจะประสบปัญหาในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ

คุณซาฮิดิ กล่าวว่า "นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายคนคาดว่าธนาคารกลางจะต้องหาสมดุลอย่างรอบคอบระหว่างความต้องการในการปรับลดอัตราเงินเฟ้อกับความกังวลด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา"

เธอเสริมว่า เพราะเหตุนี้ ภาวะได้อย่างเสียอย่างดังกล่าวจะกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์ประมาณ 3 ใน 4 จากผลการสำรวจคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูง หรือธนาคารกลางไม่สามารถดำเนินการได้เร็วพอที่จะลดเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมาย

คาเรน แฮร์ริส กรรมการผู้จัดการฝ่ายแนวโน้มมหภาคของเบน แอนด์ คัมพานี ระบุว่า "ผู้คนยังไม่ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่นี้ ซึ่งเป็นยุคที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในเชิงโครงสร้าง และเป็นโลกหลังยุคโลกาภิวัตน์ที่เราจะไม่มีการค้าขนาดเท่าเดิม จะมีการกีดกันทางการค้ามากขึ้น และกลุ่มประชากรที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้เกษียณอายุที่ออมเงินก็จะไม่ออมเงินแบบเดิม"

แฮร์ริสเสริมว่า "และเรามีแรงงานลดลง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติในหลาย ๆ ตลาด ดังนั้น การสร้างทุนจึงน้อยลง การเคลื่อนย้ายเงินทุนและสินค้าอย่างเสรีก็น้อยลงตาม ความต้องการเงินทุนกลับมากขึ้น นั่นหมายถึงอัตราเงินเฟ้อ แรงกระตุ้นของอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ