สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ของสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยในวันนี้ (16 พ.ค.) ว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ร่วงจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้วลงมาอยู่อันดับที่ 10 ในการจัดอันดับความสามารถของผู้ผลิตรถยนต์ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านธุรกิจในอนาคตประจำปี 2566 พร้อมเน้นย้ำว่าโตโยต้าเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าช้ากว่าคู่แข่งในสหรัฐและจีน
ตามรายงานของ IMD นั้น การจัดอันดับประจำปีซึ่งวัด "ความพร้อมสำหรับอนาคต" สำหรับผู้ผลิตรถยนต์นั้น จัดทำโดยอ้างอิงปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ เช่น นวัตกรรม ความหลากหลายทางธุรกิจ และสถานะทางการเงิน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า อันดับที่ร่วงลงของโตโยต้ามีขึ้นในช่วงเวลาที่หลายประเทศบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่เข้มงวดมากขึ้น โดยมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในฐานะทางเลือกที่ได้ผลสำหรับการลดคาร์บอนฟุตปรินท์ ในขณะเดียวกัน การแข่งขันเพื่อจัดหาแบตเตอรี่และชิปก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
IMD ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่างเทสลายังคงครองอันดับหนึ่ง ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว โดยสามารถรับมือกับแรงกดดันจากคู่แข่งจากจีน และสามารถเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนบีวายดี ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนขยับจากอันดับที่ 5 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 แทนที่โตโยต้า โดยความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่และชิปได้ภายในบริษัท ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ จากจีนก็สามารถไต่อันดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเสี่ยวเผิงขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6 จากอันดับที่ 12 และหลี่ ออโต้ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7 จากอันดับที่ 14 ขณะที่โฟล์คสวาเกน ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนียังคงครองอันดับที่ 3
สำหรับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ของญี่ปุ่น มีอันดับดังต่อไปนี้ ฮอนด้า อันดับ 14, นิสสัน อันดับ 20 และซูซูกิ รั้งอันดับ 21
ทั้งนี้การจัดอันดับ IMD Future Readiness Indicator ? Automotive Industry 2023 ใน 10 อันดับแรก ได้แก่
1. เทสลา (Tesla)
2. บีวายดี (BYD)
3. โฟล์คสวาเกน (Volkswagen)
4. ฮุนได (Hyundai)
5. ฟอร์ด (Ford)
6. เสี่ยวเผิง (Xpeng)
7. หลี่ ออโต้ (Li Auto)
8. เมอร์เซเดส (Mercedes)
9. เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors)
10. โตโยต้า (Toyata)